บาลีวันละคำ

รูปิยะ (บาลีวันละคำ 2,136)

รูปิยะ

อสรพิษชนิดร้าย

อ่านว่า รู-ปิ-ยะ

รูปิยะ” บาลีเป็น “รูปิย” (รู-ปิ-ยะ) รากศัพท์มาจาก รูป + อิย ปัจจัย

(ก) “รูป

บาลีอ่านว่า รู-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + ปัจจัย

: รูปฺ + = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน

(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)

: รุปฺ + = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป

รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)

(ข) รูป + อิย ปัจจัย

: รุปฺ + อิย = รูปิย แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุที่เขาประทับรูปม้าเป็นต้นไว้

หมายความว่า เมื่อแรกสร้างได้ทำรูปต่างๆ เช่นรูปม้าไว้บนวัตถุนี้ ดังนั้นจึงเรียกว่า “รูปิย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รูปิย” ว่า silver (เงิน) แต่ได้ขยายความไว้ด้วยว่า here collectively for any transactions in “specie” (ในที่นี้ โดยรวมๆ แทนการค้าขาย ใน “เงินเหรียญ”)

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 224 อธิบายรูปิยสิกขาบท ขยายความคำว่า “รูปิย” ไว้ดังนี้ –

………..

รชตํ  ปน  สงฺโข  สิลา  ปวาฬํ  รชตํ  ชาตรูปนฺติ  อาทีสุ  รูปิยํ  วุตฺตํ  ฯ  อิธ  ปน  ยงฺกิญฺจิ  โวหารคามนียํ  กหาปณาทิ  อธิปฺเปตํ  ฯ

แปลว่า –

ส่วนเงินท่านเรียกว่า รูปิยะ ในคำทั้งหลายว่า สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง เป็นต้น. แต่ในสิกขาบทนี้ท่านประสงค์เอากหาปณะเป็นต้นอย่างใดอย่างอย่างหนึ่งที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้.

………..

คำว่า “รูปิย” นี่เองที่กลายมาเป็น “รูปี” ที่ใช้กันในประเทศอินเดีย

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 เวลา 20:48 น.) คำว่า “รูปี” เขียนไว้ดังนี้ –

………..

รูปี (อังกฤษ: Rupee; ฮินดี: रूपया) เป็นหน่วยเงินตราของประเทศอินเดีย สัญลักษณ์ที่นิยมใช้ทั่วไปแทนรูปี ก็คือ Rs หรือ ₨ ส่วนรหัส ISO 4217 สำหรับรูปีของอินเดีย คือ INR

ในหลายท้องที่ของอินเดีย เรียกเงินรูปีว่า รูปี (Rupee), รูปะเย (Rupaye), รูไบ (Rubai) หรือ รูปยะกัม (rupyakam) ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต รูปฺยกมฺ (เทวนาครี : रूप्यकम्) คำว่า เราปฺย หมายถึง โลหะเงิน; รูปฺยกมฺ หมายถึง (เหรียญ) เงิน แต่ในภาษาเบงกาลี และอัสสัม (พูดในแคว้นอัสสัม ตรีปุระ และเบงกอลตะวันตก) เรียกรูปีว่า ตะกะ (Taka) ใช้สัญลักษณ์ ৳ และเขียนบนธนบัตรของอินเดียด้วย

สกุลเงินรูปีนั้นเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลแล้ว โดยในครั้งนั้นออกเสียงว่า รูปิยะ แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น รูปี เช่นในปัจจุบัน และสันนิษฐานว่าคำว่า รูปี นั้นเป็นที่มาของคำว่า เบี้ย ที่หมายถึงเงินในภาษาไทยอีกด้วย

จากพระไตรปิฎก รูปิยะ = เงิน มีที่มาจากชาวบ้านถวายเงินให้ไวยาวัจกรเพื่อทำหน้าที่จับจ่ายแทนพระสงฆ์

คำว่า รูปิยะ แปลว่าเงิน ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า รูปี

………..

หมายเหตุ : ในที่นี้ปรับแก้ถ้อยคำบางคำที่เขียนผิด และปรับย่อหน้าวรรคตอนใหม่

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รูปิยะ : (คำนาม) เงินตรา. (ป.).”

เป็นคำนิยามสั้นๆ แต่มีความหมายที่ยืดยาว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เงินตราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นเอก

: สร้างชีวิตได้เป็นอเนก

: แต่ก็ทำลายชีวิตได้เป็นอนันต์

#บาลีวันละคำ (2,136)

18-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *