ธรรมทาน (บาลีวันละคำ 2,137)
ธรรมทาน
กำลังจะเพี้ยนเป็นคำต่อไป
อ่านว่า ทำ-มะ-ทาน
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + ทาน
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทาน” ไว้ดังนี้ –
“ทาน ๑, ทาน– : (คำนาม) การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในสังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม. (ดู สังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม).”
ธมฺม + ทาน = ธมฺมทาน > ธรรมทาน แปลว่า “การให้ธรรมะ”
ข้อสังเกต :
พจนานุกรมฯ บอกว่า “มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน”
คำว่า “วิทยาทาน” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ
แต่คำว่า “ธรรมทาน” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ!
อภิปราย :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [11] “ทาน 2” แสดงไว้ว่า –
…………..
ทาน 2 (การให้, การเสียสละ, การบริจาค — Dāna: gift; giving; charity; liberality)
1. อามิสทาน (การให้สิ่งของ — Āmisadāna: material gift)
2. ธรรมทาน (การให้ธรรม, การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน — Dhammadāna: gift of Truth; spiritual gift)
ใน 2 อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ อามิสทานช่วยค้ำจุนชีวิต ทำให้เขามีที่พึ่งอาศัย แต่ธรรมทานช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป เมื่อให้อามิสทาน พึงให้ธรรมทานด้วย.
…………..
คัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 96 อธิบายความหมายของคำว่า “ธรรมทาน” ไว้ดังนี้ –
…………..
ธมฺมทานฺติ อิเธกจฺโจ อมตุปฺปตฺตึ ปฏิปทํ กเถตฺวา เทติ อิทํ ธมฺมทานํ นาม ฯ
แปลว่า
คำว่า ธมฺมทานํ มีความหมายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้บอกกล่าวปฏิปทาเครื่องบรรลุอมตะให้ นี้ชื่อว่า ธรรมทาน
…………..
คัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ หน้า 187 อธิบายความหมายของคำว่า “ธรรมทาน” ไว้ดังนี้ –
…………..
อิธโลกปรโลกทุกฺขกฺขยสุขาวหสฺส ปน สมฺมาสมฺพุทฺธปฺปเวทิตสฺส ธมฺมสฺส ปเรสํ หิตกามตาย เทสนา ธมฺมทานํ ฯ
แปลว่า
ส่วนการแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้วอันนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์และสุขในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยหมายจะให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ชื่อว่าธรรมทาน
…………..
จะเห็นได้ว่า “ธรรมทาน” นั้น หมายถึงการแสดงธรรมให้ฟัง อนุโลมไปถึงการอบรมสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดีด้วย
ปัจจุบันนี้ การถวาย (หรือให้) คัมภีร์พระไตรปิฎก ถวายหนังสือเทศน์ การถวายหนังสือธรรมะ ถวายหนังสือสวดมนต์ ฯลฯ ก็เรียกกันว่า “ธรรมทาน”
แม้ผู้พิมพ์หนังสือเช่นนั้นจำหน่ายเพื่อให้คนซื้อไปถวายพระหรือไปมอบให้กันก็พลอยอ้างอิงไปด้วยว่า นั่นคือ “ธรรมทาน”
ถ้าไม่ช่วยกันศึกษาให้ดี “ธรรมทาน” นี้ก็จะเพี้ยนไปเรื่องหนึ่ง ทำนองเดียวกับ “สังฆทาน” ที่เราช่วยกันทำให้เพี้ยนจนไม่เหลือความหมายที่ถูกต้องอีกแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งราคาซื้อขาย
: ล้มความหมายของธรรมทาน
#บาลีวันละคำ (2,137)
19-4-61