บาลีวันละคำ

ทัศนสัญญาณ (บาลีวันละคำ 2,159)

ทัศนสัญญาณ

อ่านว่า ทัด-สะ-นะ-สัน-ยาน

ประกอบด้วยคำว่า ทัศน + สัญญาณ

(๑) “ทัศน

บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

(๒) “สัญญาณ

บาลีเขียน “สญฺญาณ” (สัน-ยา-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: สํ > สญฺ + ญา = สญฺญา + ยุ > อน = สญฺญาน > สญฺญาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องรู้พร้อมกัน

สญฺญาณ” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) สัญชาน, ความรู้ (perception, knowledge)

(2) เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (token, mark)

(3) อนุสาวนีย์ (monument)

ในที่นี้ “สญฺญาณ” ใช้ตามความหมายในข้อ (2)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญาณ : (คำนาม) เครื่องหมายหรือเครื่องแสดงไว้ให้เห็นหรือให้ได้ยินเป็นต้นแม้อยู่ในระยะไกล เพื่อให้รู้ล่วงหน้าจะได้ระวังอันตรายหรือกระทําตามที่บอกหรือแนะไว้ เช่น สัญญาณไฟจราจร สัญญาณธง ตีระฆังเป็นสัญญาณให้พระลงโบสถ์.”

ทัศน + สัญญาณ = ทัศนสัญญาณ แปลตามประสงค์ว่า “การแสดงเครื่องหมายที่รู้ได้โดยการมองเห็น

คำว่า “ทัศนสัญญาณ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

สัญญาณหรือการแสดงเครื่องหมายอาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เป็นหลักใหญ่มี 2 วิธี คือ

๑ สัญญาณที่รู้ได้โดยการมองเห็น เช่น โบกธง ชักธง โบกมือ ยกมือ เปิดไฟ ปล่อยควัน ตลอดจนเครื่องหมายต่างๆ สัญญาณประเภทนี้ต้องใช้สายตามองจึงจะรู้ เรียกว่า “ทัศนสัญญาณ

๒ สัญญาณที่รู้ได้โดยการได้ยินเสียง เช่น เป่านกหวีด ยิงปืน จุดพลุ ตีเกราะ เคาะระฆัง ตบมือ เสียงร้อง เสียงตะโกน หรือแม้แต่เสียงพูดตามปกติ สัญญาณประเภทนี้ต้องใช้หูฟังจึงจะรู้ ถ้าผูกศัพท์เรียกล้อตาม “ทัศนสัญญาณ” ก็น่าจะเป็น “โสตสัญญาณ” (โสด-ตะ-สัน-ยาน) แปลว่า “การแสดงเครื่องหมายที่รู้ได้โดยการได้ยิน

ในกองทัพเรือ “ทัศนสัญญาณ” เป็นชื่อเหล่าทหารเหล่าหนึ่งของพรรคนาวิน เหล่าทหารสื่อสาร ทัศนสัญญาณ มักเรียกกันสั้นๆ ในหมู่ทหารเรือพรรค-เหล่านี้ว่า “เหล่าทัศน์”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะเห็นทัศนสัญญาณ ต้องเปิดดวงตา

: จะรู้ความแตกต่างระหว่างปริญญากับอวิชชา ต้องเปิดดวงใจ

#บาลีวันละคำ (2,159)

11-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *