สารัตถะ (บาลีวันละคำ 2,160)
สารัตถะ
อ่านว่า สา-รัด-ถะ
ประกอบด้วยคำว่า สาร + อัตถะ
(๑) “สาร”
บาลีอ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)
: สรฺ + ณ = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก”
(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ร ปัจจัย
: สา + ร = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง”
“สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)
(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)
(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)
(4) คุณค่า (value)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สาร” ไว้หลายคำ ขอยกมา 2 คำดังนี้ –
(1) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร; ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน. (ป., ส.).
(2) สาร ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีองค์ประกอบเป็นอย่างเดียวกัน มีสมบัติเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถใช้วิธีกลใด ๆ มาแบ่งแยกให้เป็นส่วนอื่นที่มีองค์ประกอบและสมบัติแตกต่างออกไปได้; (คำโบราณ) เรียกธาตุจําพวกหนึ่งและธาตุที่เข้าแทรกในต้นไม้ว่า สาร.
(๒) “อัตถะ”
บาลีเขียน “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ ปัจจัย
: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)
(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
“อตฺถ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”
ในที่นี้ “อัตถะ” เขียนตามรูปบาลี
สาร + อตฺถ = สารตฺถ > สารัตถะ แปลตามศัพท์ว่า-
(1) “ข้อความที่เป็นสาระ” = เรื่องราวที่เป็นแก่นสาร
(2) “ประโยชน์ที่เป็นสาระ” = ประโยชน์อย่างแท้จริง
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สารัตถ-, สารัตถะ : (คำนาม) เนื้อหาหลัก, ใจความสําคัญ, ความคิดสําคัญของเรื่อง.”
ขยายความ :
ในทางโลก คงมีปัญหาถกเถียงกันมากว่าอะไรคือสาระที่แท้จริงของชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตหรือมุมมองของแต่ละคน
แต่ในทางธรรม ท่านว่าสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิตมี 4 อย่าง คือ
1. ศีล = ความประพฤติถูกต้องทางการกระทำและคำพูด (morality; moral conduct)
2. สมาธิ = ความตั้งมั่นแห่งจิต (concentration; one-pointedness of mind; mental discipline)
3. ปัญญา = ความรู้แจ้งชัดทั่วถึง (wisdom; knowledge; insight; discernment)
4. วิมุตติ = ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง (deliverance; emancipation; release; salvation; liberation; freedom)
ดูเพิ่มเติม: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [218]
…………..
ดูก่อนภราดา!
อะไรคือสาระของชีวิต
: ใช้เวลาไปกับการหาคำตอบมากเท่าไร
: ก็เหลือเวลาสำหรับการไปให้ถึงจุดหมายน้อยลงไปเท่านั้น
—————-
(ชำระหนี้สงฆ์ข้ามเดือนข้ามปีให้แก่พระคุณท่าน Burapa Anan)
#บาลีวันละคำ (2,160)
12-5-61