ทานบดี (บาลีวันละคำ 2,936)
ทานบดี
ประกอบด้วยคำว่า ทาน + บดี
(๑) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –
“ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”
(๒) “บดี”
บาลีเป็น “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
ทาน + ปติ = ทานปติ (ทา-นะ-ปะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “นายแห่งทาน”
“ทานปติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทานบดี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทานบดี : (คำนาม) เจ้าของทาน. (ป., ส. ทานปติ).”
อภิปรายขยายความ :
“ทานปติ” หรือ “ทานบดี” เป็นคำเรียกการให้ทานแบบหนึ่งใน 3 แบบ คือ ทานทาส ทานสหาย และ ทานบดี
บุคคลใด ของที่กินเองใช้เองเป็นแต่เพียงของธรรมดาๆ แต่ของกินของใช้ที่ให้แก่ผู้อื่นเป็นของดีกว่าที่ตัวเองกินใช้ บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานบดี” (ทาน-นะ-บอ-ดี)
อธิบายให้เห็นภาพว่า ยามกินยามใช้ตามปกติ ก็กินใช้ของธรรมดาๆ หรือหนักไปทางของเลวๆ ราวกับว่าตนเป็นข้าทาสเขา ไม่มีของดีๆ จะกินจะใช้ แต่ครั้นพอถึงเวลาจะทำบุญทำทาน กลับจัดสรรหาของกินของใช้แต่ที่ดีๆ มาทำบุญทำทาน ปานประหนึ่งว่าเป็นเจ้าเป็นนายเป็นผู้มีอันจะกินขึ้นมาทันที
แบบนี้แหละคือ “ทานบดี” เจ้าแห่งทาน หรือให้ทานปานดังว่าเป็นเจ้า ชี้นิ้วสั่งเอาแต่ของดีๆ ขนาดไหนก็ได้ทุกอย่าง
โปรดสังเกตว่า คนไทย เวลาทำบุญจะใช้หลักนี้ ของทำบุญของถวายพระจะต้องเลือกคัดจัดสรรเฉพาะที่เป็นของดีๆ เท่าที่จะเลือกได้เสมอ พืชผักผลไม้ลูกงามๆ เลือกไว้ทำบุญก่อน ค่านิยมนี้ถือกันทั่วไป เห็นได้ทั่วไป
ข้อสังเกตเฉพาะคำ :
คำในชุดนี้ คือ “ทานทาส” “ทานสหาย” และ “ทานบดี”
“ทานทาส” และ “ทานสหาย” มีความหมายแง่เดียวเฉพาะตัว แต่ “ทานบดี” มีความหมาย 2 แง่ จึงควรทำความเข้าใจต่อไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของ “ทานบดี” ไว้แง่เดียว คือ “เจ้าของทาน” ซึ่งหมายถึง เจ้าภาพผู้ถวายทาน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
ทานบดี : “เจ้าแห่งทาน”, ผู้เป็นใหญ่ในทาน, พึงทราบคำอธิบาย ๒ แง่ คือ
ในแง่ที่ ๑ ความแตกต่างระหว่าง ทายก กับ ทานบดี, “ทายก” คือผู้ให้ เป็นคำกลางๆ แม้จะให้ของของผู้อื่นตามคำสั่งของเขา โดยไม่มีอำนาจหรือมีความเป็นใหญ่ในของนั้น ก็เป็นทายก (จึงไม่แน่ว่าจะปราศจากความหวงแหนหรือมีใจสละจริงแท้หรือไม่) ส่วน “ทานบดี” คือผู้ให้ที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในของที่จะให้ จึงเป็นใหญ่ในทานนั้น (ตามปกติต้องไม่หวงหรือมีใจสละจริง จึงให้ได้) ในแง่ที่ ๑ นี้ จึงพูดจำแนกว่า บางคนเป็นทั้งทายกและเป็นทานบดี บางคนเป็นทายกแต่ไม่เป็นทานบดี;
ในแง่ที่ ๒ ความแตกต่างระหว่าง ทานทาส ทานสหาย และทานบดี, บุคคลใด ตนเองบริโภคของดีๆ แต่แก่ผู้อื่นให้ของไม่ดี ทำตัวเป็นทาสของสิ่งของ บุคคลนั้นเรียกว่า ทานทาส, บุคคลใด ตนเองบริโภคของอย่างใด ก็ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้น บุคคลนั้นเรียกว่า ทานสหาย, บุคคลใด ตนเองบริโภคหรือใช้ของตามที่พอมีพอเป็นไป แต่แก่ผู้อื่นจัดให้ของที่ดีๆ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งของ แต่เป็นนายเป็นใหญ่ทำให้สิ่งของอยู่ใต้อำนาจของตน บุคคลนั้นเรียกว่า ทานบดี.
…………..
สรุปความหมายของคำว่า “ทานบดี” :
แง่หนึ่ง หมายถึง ผู้เป็น “เจ้าของ” สิ่งของที่จะทำบุญให้ทาน (alms-owner) = เจ้าภาพ
อีกแง่หนึ่ง หมายถึง ผู้เป็น “เจ้า” แห่งการให้ คือผู้ให้ของที่ดีกว่าที่ตัวเองกินใช้ นั่นคือเป็น “เจ้า” ของทาน (lord of alms)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเป็นแต่เพียงเจ้าของ-ทาน
: แต่จงเป็นเจ้า-ของทานด้วย
#บาลีวันละคำ (2,936)
26-6-63