บาลีวันละคำ

โลกายัต (บาลีวันละคำ 2,161)

โลกายัต

มีพุทธบัญญัติห้ามพระเรียน

อ่านว่า โล-กา-ยัด

โลกายัต” บาลีเป็น “โลกายต” (โล-กา-ยะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก โลก (โลก, ชาวโลก) + อา + (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย

: โลก + อา + ยตฺ = โลกายต + = โลกายต แปลตามศัพท์ว่า “ลัทธิที่ชาวโลกผู้โง่เขลาพากันพยายามทำตามด้วยความชื่นชอบในคำสอน” “ลัทธิเป็นเหตุให้ชาวโลกไม่พยายามทำประโยชน์ต่อไป

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “โลกายต” ว่า ลัทธิโลกายัต, โลกายตศาสตร์ (ลัทธิที่ถือว่าตายแล้วสูญ โลกหน้าไม่มี)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โลกายต” ว่า

What pertains to the ordinary view (of the world), common or popular philosophy, or as Rhys Davids (Dial. i.171) puts it: “name of a branch of Brahman learning, probably Nature — lore“; later worked into a quâsi system of “casuistry, sophistry.”

(สิ่งที่เกี่ยวกับทัศนะธรรมดาสามัญ [พูดถึงโลก], ปรัชญาสามัญ หรือปรัชญาที่ประชาชนยึดถือ, หรืออย่างที่ Rhys Davids (Dial. 1/171) กล่าว: “ชื่อการเรียนของพราหมณ์แขนงหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความรู้ทางธรรมชาติวิทยา”; ต่อมาจัดเป็นประหนึ่งระบบของ “การยกเหตุผลมาให้เข้ากับเรื่อง [ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกก็ได้], การให้เหตุผลอย่างฉลาดหรือล่อให้คนหลง”).

คัมภีร์พระวินัยว่าอย่างไร :

ในพระวินัยปิฎกมีเรื่องพระฉัพพัคคีย์ (กลุ่มภิกษุ 6 รูป) เรียนโลกายัต ชาวบ้านตำหนิติเตียนว่าเรียนเหมือนชาวบ้าน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เห็นว่าโลกายัตมีสาระอันควรเรียนย่อมไม่เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัย ผู้ที่เห็นว่าธรรมวินัยมีสาระก็ไม่ควรเรียนโลกายัต แล้วทรงบัญญัติห้ามภิกษุเรียนโลกายัต

(วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 181)

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) ภาค 3 หน้า 352 บอกความหมายของ “โลกายัต” ไว้ว่า –

……………

โลกายตํ  นาม  สพฺพํ  อุจฺฉิฏฺฐํ  สพฺพํ  อนุจฺฉิฏฺฐํ  เสโต  กาโก  กาโฬ  พโก  อิมินา  จ  อิมินา  จ  การเณนาติเอวมาทินิรตฺถกการณปฏิสํยุตฺตํ  ติตฺถิยสตฺถํ.

แปลว่า

โลกายัตคือศาสตร์นอกศาสนาว่าด้วยเรื่องไร้สาระเป็นต้นว่า ทุกอย่างเป็นสาระของชีวิตด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ ทุกอย่างไม่ใช่สาระของชีวิตด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ กาขาวเป็นไปได้จริงด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ นกยางดำเป็นไปได้จริงด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ

……………

คัมภีร์สารัตถทีปนี (ฎีกาพระวินัยปิฎก) ภาค 3 หน้า 378-379 ขยายความคำว่า “โลกักขายิกา” (รากศัพท์เดียวกับ “โลกายัต”) ไว้ว่า –

……………

โลกกฺขายิกาติ  อยํ  โลโก  เกน  นิมฺมิโต  อสุเกน  ปชาปตินา  พฺรหฺมุนา  อิสฺสเรน  วา  นิมฺมิโต  กาโก  เสโต  อฏฺฐีนํ  เสตตฺตา  พกา  รตฺตา  โลหิตสฺส  รตฺตตฺตาติ  เอวมาทิกา  โลกายตวิตณฺฑสลฺลาปกถา.  อุปฺปตฺติฐิติสํหาราทิวเสน  โลกํ  อกฺขายตีติ  โลกกฺขายิกา.

แปลว่า

คำว่า “โลกักขายิกา” หมายถึงข้อถกเถียงที่ชวนให้หลงเกี่ยวกับเรื่องโลกเป็นต้นว่า โลกนี้ใครสร้าง พระปชาบดีองค์โน้น หรือพระพรหมหรือพระอิศวรสร้างขึ้น กาสีขาวเพราะมีกระดูกขาว นกยางสีแดงเพราะเลือดสีแดง รวมทั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเกิดขึ้น ความดำรงอยู่ และความเปลี่ยนแปลงไปของโลก ก็รวมเรียกว่า “โลกักขายิกา” (คือโลกายัติ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

ในการเรียนทางโลก บัณฑิตกับคนพาลมีคติต่างกันเป็นดังฤๅ?

: บัณฑิตยชาติเรียนเพื่อหาทางสลัดพ้น

: พาลชนเรียนเพื่อหาวิธีจมอยู่กับมัน

#บาลีวันละคำ (2,161)

13-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย