อัตตาธิปไตย (บาลีวันละคำ 2,181)
อัตตาธิปไตย
อ่านว่า อัด-ตา-ทิ-ปะ-ไต หรือ อัด-ตา-ทิบ-ปะ-ไต ก็ได้
(ตามพจนานุกรม)
ประกอบด้วยคำว่า อัตตา + อธิปไตย
(๑) “อัตตา”
บาลีเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (อตฺต เป็นรูปคำเดิม อตฺตา เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติ)
“อตฺตา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
“อตฺตา” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
ในทางปรัชญา “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego
อตฺตา ในภาษาไทยเขียนเป็น “อัตตา”
(๒) “อธิปไตย”
บาลีเป็น “อาธิปเตยฺย” (อา-ทิ-ปะ-เตย-ยะ) รากศัพท์มาจาก อธิปติ + ณฺย ปัจจัย
(ก) “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก อธิ + ปติ
(1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –
1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)
2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)
(2) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
อธิ + ปติ = อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่”
อีกนัยหนึ่ง “อธิปติ” รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่”
“อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)
(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)
(ข) อธิปติ + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ อ-(ธิ) เป็น อา (อธิ > อาธิ), ลบ ณฺ ที่ ณฺย ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่างศัพท์กับปัจจัย (-ปติ > –ปเต + ยฺ + ณฺย), แปลง อิ ที่ (ป)-ติ เป็น เอ (-ปติ > –ปเต)
: อธิปติ + ณฺย = อธิปติณฺย > อาธิปติณฺย > อาธิปติย > อาธิปติยฺย > อาธิปเตยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง อำนาจอธิปไตย, ความเป็นใหญ่, ความเป็นเอกราช, อำนาจ (supreme rule, lordship, sovereignty, power)
“อาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิปไตย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิปไตย : (คำนาม) อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty).”
อตฺตา + อาธิปเตยฺย = อตฺตาธิปเตยฺย แปลว่า “ความมีตนเป็นใหญ่” หมายถึง การขึ้นอยู่กับตนเอง, ความเชื่อในตนเอง, การไม่พึ่งผู้อื่น (self-dependence, self-reliance, independence)
“อตฺตาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัตตาธิปไตย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัตตาธิปไตย : (คำนาม) การถือตนเองเป็นใหญ่. (ป. อตฺตาธิปเตยฺย); ระบอบการปกครองที่ผู้นํามีอํานาจเด็ดขาดและไม่จํากัด. (อ. autocracy).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [125] บอกไว้ดังนี้ –
อัตตาธิปไตย : ความมีตนเป็นใหญ่, ถือตนเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ (Attādhipateyya: supremacy of self; self-dependence)
…………..
อธิปไตย 3 :
คำในชุด “อาธิปเตยฺย” เขียนแบบไทยว่า “อธิปไตย” มี 3 คำ คือ –
1 อัตตาธิปไตย = ความมีตนเป็นใหญ่ คือ จะทำอะไรก็นึกถึงตน คำนึงถึงฐานะเกียรติศักดิ์ศรี หรือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ
2 โลกาธิปไตย = ความมีโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า
3 ธัมมาธิปไตย = ความมีธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือธรรมเป็นใหญ่ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เป็นใหญ่เหนือตน
: ดีกว่าเป็นใหญ่เหนือคน
#บาลีวันละคำ (2,181)
2-6-61