สัทธัมมปัชโชติกา (บาลีวันละคำ 3,105)
สัทธัมมปัชโชติกา
ส่องสว่างให้เห็นทางแห่งพระสัทธรรม
อ่านว่า สัด-ทำ-มะ-ปัด-โช-ติ-กา
ประกอบด้วยคำว่า สัทธัมม + ปัชโชติกา
(๑) “สัทธัมม”
เขียนแบบบาลีเป็น “สทฺธมฺม” อ่านว่า สัด-ทำ-มะ คำเดิมมาจาก สนฺต + ธมฺม
“สนฺต” (สัน-ตะ) แปลว่า สัตบุรุษ หรือคนดี (a good, worthy man) หมายถึงอริยบุคคล
“ธมฺม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลายหลาก ความหมายในที่นี้ คือ หลักการ, หลักปฏิบัติ, คำสอน (a general rule, general practice, doctrine) ซึ่งอาจผิดหรือถูก อาจเป็นคำสอนของคนดีหรือคนร้ายก็ได้
สนฺต + ธมฺม กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ:-
(1) แปลง –นฺต (ที่ สนฺต) เป็น ทฺ : สนฺต > สทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม
(2) แปลง สนฺต เป็น ส ซ้อน ทฺ : สนฺต > ส + ทฺ + ธมฺม = สทฺธมฺม
“สทฺธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “สัทธรรม” (สัด-ทำ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมของสัตบุรุษคือพระอริยบุคคล” “ธรรมของสัตบุรุษที่ยังความเป็นสัตบุรุษให้สำเร็จได้” หมายถึง ธรรมะของคนดี, คำสอนที่ถูกต้อง, หลักการปฏิบัติที่นำไปสู่ความเป็นอริยบุคคล (the true dhamma, the best religion, good practice, the “doctrine of the good”)
เป็นการจำกัดความชัดเจนว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึงคำสอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่คำสอนผิดๆ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สัทธรรม” ไว้ว่า –
…………..
สัทธรรม : ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษ
สัทธรรม ๓ คือ ๑. ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่พุทธพจน์ ๒. ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ไตรสิกขา (รวมตลอดบุพภาคปฏิปทา เช่น ธุดงค์) ๓. ปฏิเวธสัทธรรม หรือ อธิคมสัทธรรม สัทธรรมคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน …
สัทธรรม ๗ คือ ๑. ศรัทธา ๒. หิริ ๓.โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ๕. วิริยารัมภะ ๖. สติ ๗. ปัญญา …
…………..
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัทธรรม : (คำนาม) คําสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระสัทธรรม, ธรรมของสัตบุรุษหรือคนดี. (ส. สทฺธรฺม; ป. สทฺธมฺม).”
(๒) “ปัชโชติกา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปชฺโชติกา” อ่านว่า ปัด-โช-ติ-กา รูปคำเดิมมาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + โชติกา
(1) “โชติกา” รากศัพท์มาจาก –
(ก) ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต)
: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง”
“โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance)
(2) ดาว (a star)
(3) ไฟ (fire)
(ข) โชติ + ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: โชติ + ก = โชติก + อา = โชติกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่าง”
(2) ป + โชติกา ซ้อน ชฺ (ป + ชฺ + โชติกา)
: ป + ชฺ + โชติกา = ปชฺโชติกา แปลว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างอย่างทั่วถ้วน”
สทฺธมฺม + ปชฺโชติกา = สทฺธมฺมปชฺโชติกา > สัทธัมมปัชโชติกา แปลความว่า “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องให้เห็นพระสัทธรรมอย่างทั่วถ้วน” หรือ “(อรรถกถา) อันเป็นเครื่องส่องสว่างให้เห็นทางแห่งพระสัทธรรม”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
…………..
“สัทธัมมปัชโชติกา : ชื่ออรรถกถาอธิบาย ความในคัมภีร์นิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎก พระอุปเสนเถระ (หลักฐานบางแห่งว่า พระอุปติสสเถระ) แห่งมหาวิหารในลังกาทวีป เป็นผู้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีโดยถือตามแนวอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬ ที่ศึกษาและรักษาสืบทอดกันมา; หลักฐานบางแห่งเรียกว่า สัทธัมมัฏฐิติกา.”
…………..
แถม :
ขุทกนิกายมีคัมภีร์ที่แยกย่อยออกไป 15 คัมภีร์ คือ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
แต่ละคัมภีร์ก็มีอรรถกถาแยกกันไปแต่ละเล่ม คือคัมภีร์ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) สุตตนิบาต และ (4) ชาดก ทั้ง 4 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา” แต่แม้ชื่อจะเหมือนกัน อรรถกถาของแต่ละคัมภีร์ก็เป็นคนละเล่มกัน จบในเล่มของตน ไม่ได้รวมอยู่เป็นเล่มเดียวกัน
คัมภีร์ (1) อุทาน (2) อิติวุตตกะ (3) วิมานวัตถุ (4) เปตวัตถุ (5) เถรคาถา (6) เถรีคาถา และ (7) จริยาปิฎก ทั้ง 7 คัมภีร์นี้มีอรรถกถาชื่อเหมือนกัน คือชื่อ “ปรมัตถทีปนี” แต่ก็แยกกันเป็นคนละเล่มเช่นเดียวกับ “ปรมัตถโชติกา”
คัมภีร์นิทเทส แบ่งออกไปอีกเป็น 2 คัมภีร์ คือ มหานิทเทส และจูฬนิทเทส มีอรรถกถาชื่อ “สัทธัมมปัชโชติกา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เมธีท่านอุตส่าห์ส่องทางสว่างไสวไว้ตลอด
: ถ้าไม่แกล้งทำเป็นตาบอดก็คงจะพอมองเห็นพระสัทธรรม
12-12-63