ธรรมกาม (บาลีวันละคำ 2,180)
ธรรมกาม
อ่านว่า ทำ-มะ-กาม
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + กาม
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –
(1) doctrine (คำสอน)
(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)
(3) condition (เงื่อนไข)
(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).
2. the Law; nature.
3. the Truth; Ultimate Reality.
4. the Supramundane, especially nibbāna.
5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.
6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.
7. justice; impartiality.
8. thing; phenomenon.
9. a cognizable object; mind-object; idea.
10. mental state; mental factor; mental activities.
11. condition; cause; causal antecedent.
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “กาม”
บาลีอ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(มฺ) เป็น อา (กม > กาม)
: กมฺ + ณ = กมณ > กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3)“ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา”
“กาม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)
(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense)
(3) ความใคร่ (sense-desire)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”
ธมฺม + กาม = ธมฺมกาม (ทำ-มะ-กา-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ใคร่ในธรรม” หมายถึง ผู้รักธรรม, ผู้ชอบธรรมะ (a lover of the Dhamma)
“ธมฺมกาม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมกาม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ธรรมกาม : (คำนาม) ผู้ใคร่ธรรม, ผู้นิยมในยุติธรรม. (ส.; ป. ธมฺมกาม).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ธรรมกาม : (คำนาม) ผู้ใคร่ธรรม, ผู้รักในธรรมะ. (ส.; ป. ธมฺมกาม).”
ขยายความ :
คำว่า “ธมฺมกาม” ที่คุ้นหูกันดีคือพุทธภาษิตที่ว่า “ธมฺมกาโม ภวํ โหติ” (ทำ-มะ-กา-โม พะ-วัง โห-ติ) คำแปลตามแบบว่า “ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ”
พุทธภาษิตนี้อยู่ในปราภวสูตร คัมภีร์สุตตนิบาต ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 304 ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ –
สุวิชาโน ภวํ โหติ
สุวิชาโน ปราภโว
ธมฺมกาโม ภวํ โหติ
ธมฺมเทสฺสี ปราภโว.
แปลว่า
ผู้เจริญรู้ได้ง่าย
ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
ผู้ชอบธรรมเป็นผู้เจริญ
ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม
…………..
ดูก่อนภราดา!
ในสังคมที่เจริญแล้ว
: ผู้ที่ไม่ชอบธรรม
: ย่อมหมดความชอบธรรม
#บาลีวันละคำ (2,180)
1-6-61