บาลีวันละคำ

ธนบัตร (บาลีวันละคำ 2,194)

ธนบัตร

พจนานุกรมฯ 42 บอกคำอ่านว่า ทะ-นะ-บัด

พจนานุกรมฯ 54 บอกคำอ่านว่า ทะ-นะ-บัด และ ทน-นะ-บัด

ประกอบด้วยคำว่า ธน + บัตร

(๑) “ธน

บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย

: ธนฺ + = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)

(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: ชนฺ + = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”)

ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธน, ธน– : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

ธน + ปตฺต = ธนปตฺต (ทะ-นะ-ปัด-ตะ) > ธนปตฺร > ธนบัตร แปลตามประสงค์ว่า “แผ่นเป็นเครื่องแสดงค่าของทรัพย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธนบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) บัตรที่ออกใช้เป็นเงินตรา ซึ่งใช้ชําระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จํากัดจํานวน. (ส. ธน + ปตฺร).”

อภิปราย :

คำว่า “ธนบัตร” นี้ แต่เดิมผู้รู้ท่านให้อ่านว่า ทะ-นะ-บัด อย่างเดียวดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ แต่คนทั้งหลายที่ไม่รับรู้การอ่านแบบนั้นพากันอ่านตามสะดวกปากว่า ทน-นะ-บัด ก็มี และมีมากขึ้นทุกที

จนในที่สุดราชบัณฑิตยสภาต้องยอมแพ้ เพิ่มเติมคำอ่านขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ดังที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ 2 อย่าง คืออ่านว่า ทะ-นะ-บัด ก็ได้ อ่านว่า ทน-นะ-บัด ก็ได้ และเรียกการอ่านตามสะดวกปากนี่ว่าอ่าน “ตามความนิยม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้เพิ่มเติมการอ่านตามความนิยมแบบนี้อีกมากมายหลายคำเกลื่อนไปทั้งเล่ม

อย่างคำว่า “คมนาคม” เดิมทีท่านก็ให้อ่านว่า คะ-มะ-นา-คม อย่างเดียว

ต่อมาก็มีคน “รักง่าย” อ่านว่า คม-มะ-นา-คม แล้วก็อ่านกันมากขึ้น จนต้องบอกว่าอ่าน คม-มะ-นา-คม ก็ได้

เวลานี้ได้ยินคนอ่านว่า คม-นา-คม ก็มีแล้ว ถ้าอ่านแบบ “รักง่าย” อย่างนี้กันมากเข้า ต่อไปพจนานุกรมฯ ก็คงต้องบอกว่า “คมนาคม” อ่านว่า คม-นา-คม ก็ได้

มีผู้แก้ต่างให้ว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ไม่ควรยึดถือจริงจัง คนส่วนมากนิยมอย่างไรก็ควรคล้อยตามอย่างนั้น

เป็นความจริงที่ว่าภาษาเป็นเรื่องสมมุติ และเป็นความจริงเช่นกันว่าเราจะสมมุติให้งามขึ้นก็ได้ หรือสมมุติให้ทรามลงก็ได้

แล้วทำไมเราจึงไม่ควรที่จะสมมุติให้งามขึ้นเล่า?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

: บาปบุญทั้งหลายเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎแห่งกรรม

#บาลีวันละคำ (2,194)

15-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *