เคหภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 811)
เคหภัณฑ์
อ่านว่า เค-หะ-พัน
บาลีเป็น “เคหภณฺฑ” อ่านว่า เค-หะ-พัน-ดะ
ประกอบด้วย เคห + ภณฺฑ
“เคห” รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย, แปลง อ ที่ ค– เป็น เอ
: คหฺ > เคห + อ = เคห แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า เคห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง ที่อยู่อาศัย, ที่พัก, บ้าน; ครัวเรือน (a dwelling, hut, house; the household)
“ภณฺฑ” รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป
ภณฺฑ หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)
เคห + ภณฺฑ = เคหภณฺฑ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้สำหรับครัวเรือน มีคำไทยเรียกสั้นๆ ว่า “เครื่องเรือน”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “เครื่องเรือน” เป็นอังกฤษว่า furniture บอกคำว่า เฟอ-นิเชอะ
คำนี้คนไทยเดี๋ยวนี้นิยมพูดทับศัพท์ออกเสียงว่า เฟอ-นิ-เจ้อ แล้วเริ่มจะตัดเหลือแค่ “เฟอ” พยางค์เดียว
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล furniture เป็นบาลีว่า –
(1) dārubhaṇḍa ทารุภณฺฑ (ทา-รุ-พัน-ดะ) = เครื่องไม้ (อาจมีมูลมาจากเครื่องเรือนระยะแรกเริ่มของคนเราทำด้วยไม้เป็นส่วนมาก)
(2) gehopakaraṇa เคโหปกรณ (เค-โห-ปะ-กะ-ระ-นะ = เคห + อุปกรณ) = เครื่องใช้ประจำบ้าน
โปรดสังเกต :
– ทารุภณฺฑ ท้ายคำตรงกับ เคหภณฺฑ
– เคโหปกรณ ต้นคำก็ตรงกับ เคหภณฺฑ
“เคหภณฺฑ” เป็นบาลีไทย เขียนแบบไทยว่า “เคหภัณฑ์” (เค-หะ-พัน) คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“เคหภัณฑ์” นิยมนำไปตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้านขายเครื่องเรือน เช่น “นิยมเคหภัณฑ์” “อุดมสุขเคหภัณฑ์” แต่ชื่อที่พบแทบทุกแห่งจะสะกดคำนี้เป็น “-เคหะภัณฑ์” คือมีสระ อะ ที่ –ห– ด้วย ซึ่งผิดหลักการเขียนคำสมาสที่ว่า “ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ”
เคหะภัณฑ์ – ผิด
เคหภัณฑ์ – ถูก
: ทำบางอย่าง เกินก็พลาด ขาดก็ผิด
: แต่ทำความดีทุกชนิด เกินก็ยิ่งเป็นกำไร
#บาลีวันละคำ (811)
7-8-57