อทิสสมานกาย (บาลีวันละคำ 2,184)
อทิสสมานกาย
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
อ่านว่า อะ-ทิด-สะ-มา-นะ-กาย
ประกอบด้วยคำว่า อทิสสมาน + กาย
(๑) “อทิสสมาน”
บาลีเขียนเป็น “อทิสฺสมาน” (มีจุดใต้ สฺ ตัวแรก) อ่านว่า อะ-ทิด-สะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ทิสฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + มาน ปัจจัย, แปลง น เป็น อ (ตามกฎ: คำที่ต่อท้าย น ขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน (อะ-นะ) ขึ้นต้นพยัญชนะ แปลง น เป็น อ), ซ้อน สฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ทิสฺ + สฺ + มาน)
: น + ทิสฺ + สฺ + มาน = นทิสฺสฺมาน > อทิสฺสฺมาน (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-อันมองไม่เห็น” หมายถึง ไม่ปรากฏ, มองไม่เห็นตัว, ไม่แสดงตัว (invisible)
(๒) “กาย”
บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > ก)
: กุ > ก + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย”
(2) ก (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + อ ปัจจัย
: ก + อายฺ = กายฺ + อ = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย”
(3) กาย (ร่างกาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กาย + ณ = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)
“กาย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ร่างกาย (body)
(2) กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (group, heap, collection, aggregate, assembly)
อทิสฺสมาน + กาย = อทิสฺสมานกาย แปลว่า ร่างที่มองไม่เห็นตัว หรือกลุ่มของผู้ที่มองไม่เห็นตัว (the body or assembly of the invisible being)
คำว่า “อทิสฺสมานกาย” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เขียนเป็นคำไทยว่า “อทิสสมานกาย” (ไม่มีจุดใต้ สฺ) และอธิบายไว้ดังนี้ –
“อทิสสมานกาย : กายที่มองไม่เห็น, ผู้มีกายไม่ปรากฏ, ไม่ปรากฏร่าง, มองไม่เห็นตัว กล่าวคือ เป็นวิสัยของผู้มีฤทธิ์บางประเภท (วิกุพพนฤทธิ์) อาจทำการบางอย่างโดยไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นร่างกาย; อีกอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อของพวกพราหมณ์ว่าบรรพบุรุษที่ตายไป มีถิ่นเป็นที่อยู่เรียกว่า ปิตฤโลก ยังทรงอยู่ด้วยเป็นอทิสสมานกาย ความเชื่อนี้คนไทยก็รับมา แต่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นคงอยู่ที่บ้านเรือนเดิมอย่างที่เรียกว่า ผีเรือน.”
คำว่า “อทิสสมานกาย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
…………..
ดูก่อนภราดา!
ผู้รู้ท่านเตือนไว้ว่า สิ่งทั้งหลายถ้ายังไม่เห็นกับตาอย่าเพิ่งเชื่อ
เราท่านพึงรับฟังโดยคารวะ
แต่ถึงกระนั้นก็มีบางสิ่ง-หลายสิ่ง —
: ถ้ารอให้เห็นกับตาก่อนจึงจะเชื่อ
: ท่านอาจจะไม่เหลือแม้แต่กางเกงลิง!
#บาลีวันละคำ (2,184)
5-6-61