บาลีวันละคำ

อาลักษณ์ (บาลีวันละคำ 2,205)

อาลักษณ์

แปลว่าอะไร

อ่านว่า อา-ลัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อาลักษณ์” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) อาลักษณ์ ๑ : (คำนาม) ผู้ทําหน้าที่ทางหนังสือในราชสํานัก.

(2) อาลักษณ์ ๒ : (คำนาม) การเห็น, การสังเกต. (ส.).

อาลักษณ์” ที่หมายถึงผู้ทําหน้าที่ทางหนังสือในราชสํานัก พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร

แต่ “อาลักษณ์” ที่แปลว่า การเห็น, การสังเกต พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำสันสกฤต

ถ้าเป็นคำสันสกฤตก็สะกดเป็น “อาลกฺษณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “อาลกฺษณ” ไว้

อาลักษณ์” แปลงเป็นบาลีได้รูปเป็น “อาลกฺขณ” (อา-ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: อา + ลกฺขฺ = อาลกฺขฺ + ยุ > อน = อาลกฺขน > อาลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้ทั่วไปอย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมายอย่างยิ่ง

แต่ในคัมภีร์บาลีก็ยังไม่พบรูปศัพท์ “อาลกฺขณ

มีแต่ “ลกฺขณ” ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ลักษณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

อภิปราย :

ลกฺขณ” คือ “ลกฺษณ” ในสันสกฤต หรือ “ลักษณ์” ในภาษาไทย คำกริยาที่ใช้ในบาลีมีดังนี้ –

(1) “ลกฺเขติ” (ลัก-เข-ติ) แปลว่า ทำเครื่องหมาย, ทำให้เห็นความแตกต่าง, แสดงให้เห็นลักษณะ (to mark, distinguish, characterize)

(2) มี “อุป” คำอุปสรรคนำหน้าเป็น “อุปลกฺเขติ” (อุ-ปะ-ลัก-เข-ติ) แปลว่า ทำให้เห็นข้อแตกต่างกัน, เข้าไปกำหนด (to distinguish, discriminate)

(3) มี “สํ” คำอุปสรรคนำหน้าเป็น “สลฺลกฺเขติ” (สัน-ลัก-เข-ติ) แปลได้หลายนัย คือ –

๑ สังเกต, พิจารณา (to observe, consider)

๒ ตรวจสอบ (to examine)

๓ จดจำ (to bear in mind)

๔ เข้าใจ, หยั่งทราบ, ลงมติ, ตรึกตรอง (to understand, realize, conclude, think over)

แต่ยังไม่พบคำกริยา “อาลกฺเขติ” ซึ่งจะมาเป็นคำนามว่า “อาลกฺขณ” หรือ “อาลักษณ์” ตามรูปคำที่ใช้ในภาษาไทย

น่าจะสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า “อาลักษณ์” ในภาษาไทยที่หมายถึง “ผู้ทําหน้าที่ทางหนังสือในราชสํานัก” เป็นคำที่ยืมรูปบาลีสันสกฤตมาใช้ แต่กำหนดความหมายในภาษาไทยเอาเองตามต้องการ

ส่วน “อาลักษณ์” ที่แปลว่า “การเห็น, การสังเกต” มีความหมายสอดคล้องกับความหมายในบาลีสันสกฤต

อาลักษณ์” ที่หมายถึง “ผู้ทําหน้าที่ทางหนังสือในราชสํานัก” น่าจะมาจากไหน?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ลักษณ์” “ลายลักษณ์” “ลายลักษณ์อักษร” และ “อักษรลักษณ์” บอกไว้ดังนี้ –

(1) ลักษณ์ : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำนาม) จดหมาย, เรียกเต็มว่า อักษรลักษณ์; (คำโบราณ) ลักษมณ์.

(2) ลายลักษณ์ : (คำนาม) ตัวหนังสือ, เครื่องหมายเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ตัวอักษรอียิปต์โบราณ.

(3) ลายลักษณ์อักษร : (คำนาม) เครื่องหมายขีดเขียนเป็นตัวหนังสือ เช่น เรื่องนี้ควรบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร.

(4) อักษรลักษณ์ : (คำนาม) จดหมาย, ในบทกลอนมักใช้ว่า ลักษณ์.

คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า “อาลักษณ์” เป็นคำที่เสริมรูปมาจาก “ลักษณ์” ในภาษาไทยที่หมายถึง จดหมาย, ตัวหนังสือ นั่นเอง

อธิบายว่า “ลักษณ์” หมายถึง จดหมาย, ตัวหนังสือ ผู้ทำงานเกี่ยวกับเขียนจดหมายหรือเขียนหนังสือ (หมายถึงเอาข้อความที่มีผู้เขียนไว้แล้วมาเขียนเป็นตัวหนังสือ) จึงเรียกว่า “อาลักษณ์

ถ้า “อา-” ที่เติมเข้าข้างหน้าเป็น “อา” คำอุปสรรคในบาลี คำว่า “อาลักษณ์” ก็แปล “ลากเข้าความ” ได้ว่า ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเขียนจดหมายหรือเขียนหนังสือที่ “ยิ่ง” (อา = ทั่วไป, ยิ่ง) คือจดหมายหรือเขียนหนังสือที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน

…………..

26 มิถุนายน – วันสุนทรภู่

อาลักษณ์” ผู้มีเกียรติคุณยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนซื่อเขียนหนังสือไม่มีเงื่อนงำ

: คนไร้ธรรมซ่อนเงื่อนงำไว้ในหนังสือ

#บาลีวันละคำ (2,205)

26-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย