ถ้ำ (บาลีวันละคำ 2,206)
ถ้ำ
บาลีว่าอย่างไร
ถ้าให้แปลคำว่า “ถ้ำ” เป็นบาลี นักเรียนบาลีจะต้องนึกถึงคำว่า “คุหา” เป็นคำแรก
“คุหา” คือคำที่เราใช้ในภาษาไทยเป็น “คูหา”
โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น “คุหา” (คุ– สระอุ) ไม่ใช่ “คูหา” (คู– สระอู)
“คุหา” รากศัพท์มาจาก คุหฺ (ธาตุ = ปกปิด, กั้น) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คุหฺ + อ = คุห + อา = คุหา แปลตามศัพท์ว่า “ที่ปกปิด” “ที่ปิดกั้น” หมายถึง ที่ซ่อน, ถ้ำ, อุโมงค์ (a hiding place, a cave, cavern)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คูหา : (คำนาม) ถํ้า; สิ่งก่อสร้างเป็นห้อง ๆ อย่างตึกแถว แต่ละห้องเรียกว่า คูหา, ลักษณนามเรียกสิ่งก่อสร้างเช่นนั้น เช่น ตึกแถวนี้มี ๑๐ คูหา; โดยอนุโลมใช้เรียกช่องที่กั้นไว้เป็นสัดส่วนสำหรับใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คูหาลงคะแนนในที่เลือกตั้งสำหรับใช้ในการกาบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง.”
“ถ้ำ” อีกคำหนึ่งที่นักเรียนบาลีคุ้นตารองจาก “คุหา” คือ “เลณ”
“เลณ” (เล-นะ) รากศัพท์มาจาก ลี (ธาตุ = ติดแน่น, แอบซ่อน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ)แล้วแปลง น เป็น ณ, แผลง อี ที่ ลี เป็น เอ (ลี > เล)
: ลี + ยุ > อน = ลีน > เลน > เลณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หลบเร้น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เลณ” ว่า –
(1) a cave in a rock, a mountain cave, used by ascetics or bhikkhus as a hermitage or place of shelter, a rock cell. (ถ้ำในภูผา, ถ้ำเขาซึ่งพวกนักบวชหรือภิกษุใช้เป็นอาศรมหรือสถานที่จะหลบบัง, ซอกเขา)
(2) refuge, shelter; salvation [sometimes in sense of nibbāna]. (ที่พึ่ง, ที่พักพิง; ความหลุดพ้น [บางครั้งใช้ในความหมายของ นิพฺพาน])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เลณะ : (คำนาม) ที่แอบ, ที่เร้น, ที่พัก, ที่อาศัย, เขียนเป็น เลนะ ก็มี. (ป.).”
โปรดสังเกตว่า “เลณะ” ในภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฯ) ไม่มีคำแปลว่า ถ้ำ
นอกจาก 2 คำนั้นแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่หมายถึง “ถ้ำ” แต่ไม่คุ้นตา คือ “คพฺภร”
“คพฺภร” (คับ-พะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) คพฺภฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อร ปัจจัย
: คพฺภฺ + อร = คพฺภร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่คงไว้ซึ่งทางเดิน” (คือยังเดินไปได้)
(2) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ภร ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุ พฺ (ครฺ > คพฺ)
: ครฺ + ภร = ครฺภร > คพฺภร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไหลไป”
(3) คติ (ทางไป) + ภร (ธาตุ = คด, งอ) + อ ปัจจัย, ลบ ติ,ที่ (ค)-ติ (คติ > ค), ซ้อน พฺ ระหว่างบทหน้าและธาตุ (คติ > ค + พฺ + ภรฺ)
: คติ > ค + พฺ + ภรฺ = คพฺภรฺ + อ = คพฺภร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่คดเป็นทางไป”
“คพฺภร” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง อุโมงค์, ถ้ำ (a cavern)
แถม :
ในคัมภีร์มีคำบรรยายลักษณะของ “จิต” คำหนึ่งว่า “คุหาสยํ” (คุ-หา-สะ-ยัง) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “มีถ้ำเป็นที่อาศัย”
มีข้อถกเถียงกันว่า จิตของคนเราสถิตอยู่ ณ ที่ไหนในร่างกาย ระหว่างหัวใจกับสมอง ?
คำว่า “คุหาสยํ” ทำให้มีผู้ลงความเห็นว่า จิตอยู่ที่สมอง เพราะสมองอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ และกะโหลกศีรษะมีลักษณะเช่นเดียวกับ “ถ้ำ” สอดคล้องกับคำว่า “คุหาสยํ” = มีถ้ำเป็นที่อาศัย
อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คุหาสยํ” ว่า hiding in the heart; or the shelter of the heart (ซ่อนอยู่ในหัวใจ; หรือที่ซ่อนแห่งหัวใจ)
ตกลงว่า “ถ้ำ” ของจิตอยู่ที่ไหนกันแน่?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลงถ้ำ ยังมีหวังว่าจะคลำพบทางออก
: หลงกิเลสหลอก หลงไปชั่วกัปชั่วกัลป์
#บาลีวันละคำ (2,206)
27-6-61