ฤๅจะถึงคราเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน
ฤๅจะถึงคราเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน
———————————–
ผมได้อ่านข้อความที่ตั้งชื่อว่า “การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕” ซึ่งเข้าใจว่าออกมาจากสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชิญชวนให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังที่ระบุไว้ในชื่อเรื่องนั้นแล้ว
ข้อความนั้นคงมีเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ทั่วกันแล้ว แต่เพื่อให้เห็นเป็นหลักฐานในที่นี้ทีเดียว และเพื่อญาติมิตรจะได้ไม่ต้องไปเที่ยวหาอ่านในที่อื่นให้ยุ่งยาก ผมจึงได้คัดข้อความมาไว้ในที่นี้แล้ว
ขอเชิญญาติมิตรอ่านข้อความนั้น ต่อจากนั้นจะเป็นความคิดเห็นของผม
…………………..
การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา ๗ วัน ดังนี้
“สภาพปัญหา” มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน ๑๒ รูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ ๒ ปี แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ
“หลักการใหม่” ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคม โดยตําแหน่ง ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (๒๐ รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร
ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้
จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑
…………………..
ความคิดเห็นของผมมีดังนี้
ประการที่ ๑ ในย่อหน้า “สภาพปัญหา” ข้อความตอนที่ว่า —
“นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน”
ผมอ่านแล้วรู้สึกขำลึกๆ ตรงที่ว่า “จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน”
ก็ใครละครับที่ใช้วิธีจัดการแบบเอะอะโครมครามจน “ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน” แหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี
พ่อแม่เราประพฤติชั่ว เราจะต้องไปยืนแหกปากด่าอยู่ตามสี่แยกเพื่อให้ “ไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใส” ด้วยหรือครับ?
…………………..
ประการที่ ๒ ย่อหน้า “หลักการใหม่” นั้น สำคัญมาก อยากจะให้อ่านแล้วคิดหลายๆ ชั้น
หลักการก็คือ “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” อันนี้เป็นภาษากฎหมาย ต้องระวังให้ดี
ตามตัวหนังสือนั้น “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง”
แต่ตามข้อเท็จจริงหรือเวลาปฏิบัติจริงๆ พระมหากษัตริย์หาได้ทรงคัดสรรตัวบุคคลด้วยพระองค์เองไม่
ผู้มีบทบาทมีอำนาจคัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือ “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งในที่นี้ระบุไว้ชัดว่าคือ “นายกรัฐมนตรี”
ดังนั้น ผู้คัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือนายกรัฐมนตรี
พูดชัดๆ ต่อไปนี้-ถ้าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนี้ผ่าน-นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดสรรพระภิกษุที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมภิไธย “แต่งตั้ง” ตามภาษากฎหมาย
โปรดสังเกตว่า ตาม “หลักการใหม่” นี้จำกัดพระสังฆาธิการระดับปกครองไว้เพียงเจ้าคณะภาค คือไม่รวมลงไปถึงเจ้าคณะจังหวัด
แต่ไม่มีปัญหาอะไร เปิดรูจมูกไว้ให้หายใจได้สักระยะหนึ่ง ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ ในอนาคตจะขยายอำนาจการแต่งตั้งลงไปถึง —
เจ้าคณะจังหวัด
หรือเจ้าคณะอำเภอ
หรือเจ้าคณะตำบล
หรือแม้แต่เจ้าอาวาส
ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด
เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันไม่ไกล เมืองไทยเรานี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาสทุกวัดทั่วราชอาณาจักร
ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้น?
กรุณาอย่าอ้างนะครับว่า-ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยมารยาททางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็อาจจะมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่เป็นชาวพุทธเป็นผู้รับผิดชอบ
ที่ผมบอกว่ากรุณาอย่าอ้างก็เพราะว่า เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาจะมีมารยาททางการเมืองอย่างที่คาดหวังหรือไม่
ถึงตอนนั้น นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะอ้างหน้าตาเฉยเหมือนที่มีผู้นิยมอ้างอยู่ในเวลานี้ว่า “ก็กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าทำตามกฎหมาย” ใครจะทำอะไรได้
นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะคัดสรร “พระ” ที่ตนกำกับดูแลได้เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะสงฆ์ไทยได้ตามสบาย ใครจะทำอะไรได้
ถ้าจะกำหนด “หลักการใหม่” ให้เหมาะสมแก่การที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผมมีข้อเสนอดังนี้
ข้อหนึ่ง-ปรับแก้หลักการที่ว่า “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” โดยเพิ่มเติมข้อความว่า
“การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”
นั่นหมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงคัดสรรตัวพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามไม่ต้องมายุ่งด้วย
ข้อสอง-ถ้ายังต้องการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ให้ได้ ก็ขอให้มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า
“นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น”
อย่างนี้จึงจะเป็นหลักประกันว่า แม้ฆราวาสจะเป็นผู้แต่งตั้งพระ แต่ฆราวาสผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธแน่ๆ
ถ้าจะโต้แย้ง (ซึ่งต้องมีผู้โต้แย้งแน่นอน) ว่า ไปกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ผิดหลักประชาธิปไตย
ก็ต้องกำหนดหลักการใหม่ที่มีหลักประกันได้แน่นอนว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพระ-ถ้ายังยืนยันจะให้เป็นฆราวาส-ก็จะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้นับถือศาสนาอื่นเข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวด้วยเด็ดขาด-ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุดอยู่แล้ว
…………………..
ประการที่ ๓ ย่อหน้าสุดท้ายของข้อความเขียนว่า “จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไป …”
ผมคาดว่าคนไทยรุ่นใหม่ที่ส่วนมากไม่เคยเห็นความสำคัญของภาษาไทยอ่านข้อความตรงนี้แล้วคงไม่สะดุดใจอะไร
แต่ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ถูกสอนมาให้รู้จักระดับชั้นของภาษา อ่านแล้วก็สลดใจว่าบัดนี้ความเสื่อมทรามของภาษาไทยระบาดเข้าไปถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
เวลาเราจะขอให้พระภิกษุทำอะไรสักอย่าง ภาษาไทยใช้ว่า “ขออาราธนา” หรือ “ขอนิมนต์” ส่วนคำว่า “ขอเชิญ” เราใช้สำหรับบุคคลทั่วไป
ในที่นี้เอ่ยถึง “บุคคลทั่วไป” ด้วยก็จริง แต่จะใช้คำว่า “ขอเชิญ” กับพระภิกษุนั้นย่อมไม่ชอบอย่างยิ่งด้วยหลักภาษาไทย
อนึ่ง ในข้อความนี้เอ่ยถึงเฉพาะ “พระภิกษุ”
๑ แปลว่า “สามเณร” ไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น ใช่หรือไม่
๒ แปลว่า “สามเณร” ไร้สิทธิ์เสียยิ่งกว่า “บุคคลทั่วไป” ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กที่ไหนก็ได้ ใช่หรือไม่
เผื่อว่าประเด็นนี้มีข้อกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าสามเณรไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น ท่านผู้ใดทราบ ขอความรู้ด้วยครับ
…………………..
แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมจะไม่แปลกใจเลย-ถ้าในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ ตามหลักการใหม่ที่ร่างมานี้ก็ผ่านฉลุยด้วยดี-และขอให้ทุกท่านก็อย่าได้แปลกใจด้วยเช่นกัน การเปิดให้แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น
และความจริงมีอยู่ว่า
วโส อิสฺสริยํ โลเก
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก
สพฺพํ รฏฺฐํ ทุกฺขํ เสติ
ราชา เจ โหตฺยธมฺมิโก.
ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่ครองธรรม
แผ่นดินก็เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ
ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก.
ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองครองธรรม
แผ่นดินก็ร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า
ถ้าเมืองไทยยังมีโอกาสที่จะเลือกตัวผู้บริหารบ้านเมืองได้ ก็ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อเตือนใจเราทุกคนว่า จงช่วยกันอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาลูกหลานไทยให้เป็นผู้ครองธรรมไปตั้งแต่เล็กแต่น้อย
เมื่อเขาเติบใหญ่ได้เป็นผู้บริหารบ้านเมือง บ้านเมืองของเราจะได้มีผู้บริหารบ้านเมืองที่ครองธรรม แผ่นดินไทยก็จะร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า
ท่านจะหัวเราะเยาะว่าผมฝันบ้า-ก็เชิญตามสบาย
แต่ถ้าเราไม่ฝันไว้แบบนี้ แล้วไม่พยายามช่วยกันทำให้ได้-โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนตั้งแต่วันนี้ —
วันหนึ่งเมื่อผู้ที่ไม่ครองธรรมเข้ามาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง
เราจะเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑
๑๐:๒๖
—–
คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ ชิมฺหํ คจฺฉติ ปุงฺคโว
สพฺพา ตา ชิมฺหํ คจฺฉนฺติ เนตฺเต ชิมฺหํ คเต สติ
เอวเมว มนุสฺเสสุ โย โหติ เสฏฺฐสมฺมโต
โส เจ อธมฺมํ จรติ ปเคว อิตรา ปชา
สพฺพํ รฏฺฐํ ทุกฺขํ เสติ ราชา เจ โหตฺยธมฺมิโก ฯ
คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ อุชุํ คจฺฉติ ปุงฺคโว
สพฺพา ตา อุชุํ คจฺฉนฺติ เนตฺเต อุชุํ คเต สติ
เอวเมว มนุสฺเสสุ โย โหติ เสฏฺฐสมฺมโต
โส เจ ๑ ธมฺมํ จรติ ปเคว อิตรา ปชา
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโกติ ฯ
ปตฺตกมฺมวคฺโค ทุติโย ฯ
สุตฺต องฺ. (๒):จตุกฺกนิปาตา – หน้าที่ 97
พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 70
…………………………….
…………………………….