บาลีวันละคำ

ทฺวิ = สอง (บาลีวันละคำ 2,222)

ทฺวิ = สอง

สังขยามหัศจรรย์

คำบาลี “ทฺวิ” (มีจุดใต้ ทฺ) ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุยอิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง “ทฺวิ” ที่ถูกต้องที่สุด

ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน 2) (number two) แต่เมื่อนำไปใช้ในประโยคข้อความ สามารถเปลี่ยนรูปไปได้หลายอย่าง

สูตรการแปลงรูปของ “ทฺวิ” ที่นักเรียนบาลีจำกันมาคือ “ทฺวิ  ทิ  ทุ  ทฺวา  พา  เทฺว

ในภาษาไทยพบว่า “ทฺวิ” แปลงรูปเป็น “ทฺวิ  ทวี  ทิ  ทุ  ทวา  เทว* (ทะ-เว) โท

ขอนำคำในภาษาไทยที่มีกำเนิดมาจาก “ทฺวิ” จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเสนอพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –

(1) ทวิ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สอง เช่น ทวิราช. (ป., ส.).

(2) ทวิช, ทวิช– : (คำแบบ) (คำนาม) นก; พราหมณ์. (ป., ส. ทฺวิช ว่า ผู้เกิด ๒ หน).

(3) ทวิชากร : (คำแบบ) (คำนาม) ฝูงนก. (ส.).

(4) ทวิชาติ : (คำนาม) นก, หมู่นก; พราหมณ์. (ส. ทฺวิชาติ ว่า ผู้เกิด ๒ หน).

(5) ทวิบถ : (คำนาม) สถานที่ที่ทางทั้ง ๒ ตัดผ่านกัน, สี่แยก. (ส.).

(6) ทวิบท, ทวิบาท : (คำนาม) สัตว์สองเท้า. (ส.).

(7) ทวิภาคี : (คำที่ใช้ในการทูต) (คำวิเศษณ์) สองฝ่าย. (คำนาม) เรียกสัญญาระหว่างประเทศที่มีคู่สัญญา ๒ ฝ่ายว่า สัญญาทวิภาคี (bilateral treaty).

(8) ทวีคูณ : (คำวิเศษณ์) ๒ เท่า. (ส. ทฺวิคุณ; ป. ทิคุณ).

(9) ทวีธาภิเษก : (คำนาม) พระราชพิธีสมโภชเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงครองราชสมบัติยืนนานมาเป็น ๒ เท่าของรัชกาลที่ ๔, เรียกเหรียญที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ ว่า เหรียญทวีธาภิเษก.

(10) ทิชากร : (คำนาม) นก, หมู่นก; พราหมณ์. (ป.).

(11) ทุติย– : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ที่ ๒, มักใช้นําหน้าศัพท์อื่น เช่น ทุติยดิถี = วัน ๒ คํ่า, ทุติยมาส = เดือนที่ ๒, ทุติยวาร = ครั้งที่ ๒, ทุติยสุรทิน = วันที่ ๒. (ป.).

(12) ทุติยาสาฬหะ : (คำแบบ) (คำนาม) เดือน ๘ ที่ ๒, เดือน ๘ หลัง. (ป.).

(13) ทุวิธะ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ๒ อย่าง. (ป.).

(14) ทวาทศม– : (คำวิเศษณ์) ที่ ๑๒ เช่น ทวาทศมสุรทิน = วันที่ ๑๒. (ส.; ป. ทฺวาทสม).

(15) ทวาทศะ : (คำวิเศษณ์) สิบสอง. (ส. ทฺวาทศนฺ; ป. ทฺวาทส).

(16) ทวาบรยุค : (คำนาม) ชื่อยุคที่ ๓ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะและอายุของมนุษย์ลดลงเหลือเพียง ๒ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค. (ดู จตุรยุค).

(17) เทวตรีคันธา [ทะเวตฺรี-] : (คำนาม) พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันมีกลิ่นหอม ๒ ชนิด ชนิดละ ๓ อย่าง คือ ดอกบุนนาค แก่นบุนนาค รากบุนนาค กับ ดอกมะซาง แก่นมะซาง รากมะซาง.

(18) เทวภาวะ* : (คำนาม) ความเป็นคู่, ความเป็น ๒, สภาพที่เป็น ๒ คือ ความลังเลสงสัย, เขียนเป็น เทวภาพ ก็มี เช่น ทวีพิชทวีธารทรง สุรยเสพย ไส้แฮ เทวภาพเทวหกพ้น แว่นไว (ยวนพ่าย).

*อ่านว่า ทะ-เว –

(19) เทววาจิกสรณคมน์ [ทะเววาจิกะสะระนะคม] : (คำนาม) การเปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ เป็นสรณคมน์ที่ตปุสสะและภัลลิกะกล่าวหลังจากที่ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแด่พระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากตรัสรู้.

(20) เทวสุคนธ์* : (คำนาม) กลิ่นหอม ๒ อย่าง คือ กลิ่นที่เกิดจากรากบุนนาคและรากมะซาง.

*อ่านว่า ทะ-เว –

(21) โท : (คำวิเศษณ์) สอง, ชั้นที่ ๒ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้นหรือขั้นของยศ ตำแหน่ง ความสำคัญ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่าเอก สูงกว่าตรี) เช่น ร้อยโท ข้าราชการชั้นโท ปริญญาโท; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ้  ว่า ไม้โท. (ป. ทุ, ทฺวิ; ส. ทฺวิ).

(22) โทศก : (คำนาม) เรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๒ เช่น ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๓๔๒.

…………..

ในวาระที่ บาลีวันละคำ ดำเนินมาถึงคำที่ 2,222

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเขียนเปลี่ยนคำนำให้คิด

: เหมือนน้ำจิตเปลี่ยนวันละพันหน

: อันเรียนคำจำหลักไม่ยักจน

: แต่เรียนคนจับหลักไม่ยักเจอ

—————

ประกาศ :

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2561) โรงพิมพ์นำ บาลีวันละคำ เล่ม 4 ซึ่งพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วมาส่ง

ประจวบกับ บาลีวันละคำ ดำเนินมาถึงคำที่ 2,222 ในวันนี้

ญาติมิตรท่านใดสามารถแปลคำว่า “2,222” เป็นบาลีได้ถูกต้อง จะได้รับ บาลีวันละคำ เล่ม 4 เป็นอภินันทนาการ 1 เล่ม

เชิญสำแดงความสามารถโดยทั่วกัน

#บาลีวันละคำ (2,222)

13-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *