บาลีวันละคำ

ฮีโร = วีโร (บาลีวันละคำ 2,221)

ฮีโร = วีโร

บาลีที่คนไม่ได้นึก

ฮีโร” เป็นคำอังกฤษที่คนไทยรู้จักและพูดกันทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีที่มีเหตุการณ์วิกฤตและมีผู้ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญเพื่อแก้ไขปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-ในปฏิบัติการชนิดเอาชีวิตเข้าแลก เราจะมีคำเรียกผู้ปฏิบัติการเช่นนั้นว่า … เป็น “ฮีโร

ฮีโร” คำอังกฤษสะกดว่า hero

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล hero เป็นไทยดังนี้ –

1. ผู้กล้าหาญ, วีรบุรุษ, คนเก่ง, กล้าหาญ

2. ตัวเอ้, ตัวสำคัญ, พระเอก

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล hero เป็นบาลีดังนี้ –

(1) sūra สูร (สู-ระ) = ผู้กล้า

(2) vīra วีร (วี-ระ) = ผู้กล้า

(3) mahāparakkama มหาปรกฺกม (มะ-หา-ปะ-รัก-กะ-มะ) = ผู้บากบั่นทำการใหญ่

ในที่นี้ขอพิจารณาเฉพาะคำว่า “วีร

วีร” รากศัพท์มาจาก –

(1) วี (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย : วี + = วีร แปลว่า “ผู้ก้าวไปสู่ความสูงสุด

(2) วีรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + ปัจจัย : วีร + = วีร แปลว่า “ผู้กล้าหาญ

(3) วิ (= ไม่มี, ปราศจาก) + อีร (= ความหวั่นไหว) : วิ + อีร = วีร แปลว่า “ผู้ปราศจากความหวั่นไหว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วีร” ว่า manly, mighty, heroic; a hero (เป็นชาติชาย, ทรงอำนาจ, เก่งกล้า, ผู้กล้าหาญ)

วีร” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “วีโร

โปรดสังเกตคำแปล “วีร” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า a hero

ฮีโร” อังกฤษ ความหมายเดียวกับ “วีโร” บาลีนั่นเอง

: นึกถึง “ฮีโร

: นึกถึง “วีโร

…………..

ในคัมภีร์บาลีแสดงความหมายของ “วีโร” โดยวัดที่การลงมือทำความดี (virtue) หมายถึง คนกล้าที่จะทำความดีเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็น “วีโร

เมื่อตัดสินใจทำความดีแล้ว ท่านว่า “วีโร” จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ –

(1) “วิริยวา” (วิริยะวา) – บากบั่นกล้าสู้

(2) “ปหู” (ปะหู) – ทำเต็มความสามารถ

(3) “วิสวี” (วิสะวี) – รู้งานและแนะนำให้กำลังใจผู้ร่วมงานได้

(4) “อลมตฺต” (อะละมัตตะ) – ทำตัวให้เหมาะกับงาน (ไม่อ้างว่างานนี้ฉันไม่ถนัด)

(5) “สูร” (สูระ) – ทำแบบถวายชีวิต (ไม่แล้วไม่เลิก)

(6) “วิกฺกนฺต” (วิกกันตะ) – บุกไปข้างหน้าเหมือนม้าโผนศึก

(7) “อภีรุ” (อะภีรุ) – ไม่กลัวตาย

(8) “อจฺฉมฺภี” (อัจฉัมภี) – ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง

(9) “อนุตฺราสี” (อะนุตราสี) – ไม่วิตกกังวล

(10) “อปลายี” (อะปะลายี) – ไม่หนีหน้า

(11) “ปหีนภยเภรว” (ปะหีนะภะยะเภระวะ) – ทิ้งความกลัวและความหวั่นเกรงไว้เบื้องหลัง

(12) “วิคตโลมหํส” (วิคะตะโลมะหังสะ) – ไม่ตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกไม่ว่าสถานการณ์จะร้ายแรงเพียงใด

ที่มา: มหานิทเทส 29/304; จูฬนิทเทส 30/217

คุณสมบัติของผู้กล้าทั้ง 12 ข้อนี้ล้วนมี “สติ” เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้กล้าที่ขาดสติ

: คือผู้บ้า

#บาลีวันละคำ (2,221)

12-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย