เทพารักษ์ (บาลีวันละคำ 2,213)
เทพารักษ์
ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นมิตรกันได้
อ่านว่า เท-พา-รัก
แยกศัพท์เป็น เทพ + อารักษ์
(๑) “เทพ”
บาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกันหรือเป็นความหมายเด่น คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึง พระราชา, ฟ้า, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน อีกด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแผลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –
วร เป็น พร
วิวิธ เป็น พิพิธ
: เทว > เทพ
(๒) “อารักษ์”
บาลีเป็น “อารกฺข” (อา-รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: อา + รกฺข + อ = อารกฺข แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)
เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้
ความหมายของ รกฺขติ :
(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)
(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])
(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])
“อารกฺข” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”
“อารกฺข” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อารักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อารักษ์ : (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล; เทวดาผู้พิทักษ์รักษา, มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา. (ส.; ป. อารกฺข).”
เทพ + อารักษ์ = เทพารักษ์ แปลว่า “เทวดาผู้ดูแลป้องกัน”
ในภาษาบาลีมีคำว่า “อารกฺขเทวตา” (อา-รัก-ขะ-เท-วะ-ตา) ตรงกับที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “อารักษเทวดา” ความหมายเดียวกับ “เทพารักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทพารักษ์ : (คำนาม) เทวดาผู้ดูแลรักษาที่แห่งใดแห่งหนึ่ง. (ส.).”
อภิปราย :
เป็นความเชื่อของคนไทย (อาจรวมทั้งคนชาติอื่น) ว่า สถานที่ต่างๆ เช่นป่าเขาลำเนาไพรเถื่อนถ้ำแม่น้ำทะเลหลวงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลรักษาอยู่ เรียกรวมๆ ว่าผีหรือ “เทพารักษ์”
ที่กล่าวว่า “เป็นความเชื่อของคนไทย” นั้นเป็นคำเรียกรวมๆ ไม่ได้แปลว่าคนไทยเชื่ออย่างนี้ทุกคนไป คนที่ไม่เชื่อก็มาก
เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผี หรือ “เทพารักษ์” นี้ จริงหรือไม่จริง มีหรือไม่มี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ หมายความว่า ใครเชื่อว่ามี สิ่งเหล่านั้นก็เลยมีตามความเชื่อของผู้นั้น ใครเชื่อว่าไม่มี สิ่งเหล่านั้นก็เลยไม่มีตามความเชื่อของผู้นั้น – มิใช่เช่นว่านี้
สิ่งเหล่านั้นจะมีหรือไม่มีย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นจริง
ถ้าความเป็นจริงสิ่งเหล่านั้นมี ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งเหล่านั้นก็คงมีอยู่ตามความเป็นจริงนั่นเอง
ถ้าความเป็นจริงสิ่งเหล่านั้นไม่มี ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งเหล่านั้นก็คงไม่มีอยู่ตามความเป็นจริงเช่นกัน
หน้าที่ของเรา (ถ้ายังสนใจสิ่งเหล่านั้น) ก็คือทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่เกณฑ์ความเป็นจริงให้ตรงกับความเห็น
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าความเป็นจริงคืออย่างไร? นั่นแหละคือหน้าที่ของเรา (ถ้ายังสนใจสิ่งเหล่านั้น) ที่จะศึกษาแสวงหาด้วยปัญญา ถ้าไม่ไว้วางใจปัญญาของผู้อื่น ก็ต้อง-ด้วยปัญญาของตนเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เทพารักษ์ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริง ก็ควรขอบใจ
: แต่สามัคคีของคนไทยนี่ก็ศักดิ์สิทธิ์จริง
#บาลีวันละคำ (2,213)
4-7-61