องคาพยพ [2] (บาลีวันละคำ 4,447)
องคาพยพ [2]
ทบทวนความหมายกันอีกที
อ่านว่า อง-คาบ-พะ-ยบ ก็ได้
อ่านว่า อง-คา-พะ-ยบ ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
แยกศัพท์ตามที่ตาเห็นเป็น องค + อพยพ
(๑) “องค”
บาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺค” (นปุงสกลิงค์) ดังนี้ –
(1) part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol (ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย);
(2) a constituent part of a whole or system or collection (ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์)
“องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(๑) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.
(๒) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.
(๓) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.
(๔) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.
(๒) “อพยพ”
บาลีเป็น “อวยว” อ่านว่า อะ-วะ-ยะ-วะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค ลง. ในที่นี้ใช้แทนศัพท์ “วิสุํ วิสุํ” = แยกกันเป็นส่วน ๆ) + ยุ (ธาตุ = ผสม, ปะปน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อุ เป็น โอ, โอ เป็น อว (ยุ > โย > ยว)
: อว + ยุ = อวยุ + อ = อวยุ > อวโย > อวยว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ผสมกันเป็นส่วนๆ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อวยว” ว่า limb, member, constituent, part (อวัยวะ, องคาพยพ, ส่วนประกอบ, องค์)
จะเห็นได้ว่า “อวยว” กับ “องฺค” ความหมายคล้ายกันหรืออย่างเดียวกันนั่นเอง ในคัมภีร์พบว่า “อวยว” กับ “องฺค” ใช้เป็นคำอธิบายซึ่งกันและกัน = องฺค คือ อวยว และ อวยว ก็คือ องฺค
“อวยว” ในภาษาไทยใช้ว่า “อวยวะ” (อะ-วะ-ยะ-วะ) “อวัยวะ” (อะ-ไว-ยะ-วะ) เราคุ้นกับรูปคำว่า “อวัยวะ” มากกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อวยวะ, อวัยวะ : (คำนาม) ชิ้น, ส่วน, ส่วนของร่างกาย, ในบทกลอนใช้ว่า อพยพ ก็มี. (ป., ส. อวยว).”
ในภาษาไทย “อวยว” แผลง ว เป็น พ ได้รูปเป็น “อพยพ” ซึ่งไปพ้องกับ “อพยพ” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อพยพ ๑ : (คำกริยา) ย้ายครอบครัวจากถิ่นหนึ่งไปอยู่อีกถิ่นหนึ่ง, ยกพวกย้ายจากถิ่นเดิมไป.
(2) อพยพ ๒ : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) อวัยวะ, ส่วนของร่างกาย. (ป., ส. อวยว)
โปรดทราบว่า “อพยพ” ที่หมายถึง ย้ายครอบครัวจากถิ่นหนึ่งไปอยู่อีกถิ่นหนึ่ง เป็นคนละคำกับ “อพยพ” ที่แผลงมาจาก “อวยว” ในภาษาบาลี
องฺค + อวยว ทีฆะสระหลัง คือ อะ ที่ อ-(วยว) เป็น อา = องฺคาวยว แผลง ว เป็น พ จึงได้รูปเป็น “องคาพยพ” เป็นการเอาคำมารวมกันแบบไทย ในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ที่รวมกันแบบนี้
“องคาพยพ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“องคาพยพ : (คำนาม) ส่วนน้อยและใหญ่แห่งร่างกาย, อวัยวะน้อยใหญ่. (ป. องฺค+ อวยว).”
ขยายความ :
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2552 อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า –
…………..
… ในปัจจุบันคำว่า องคาพยพ ใช้ในความหมายที่กว้างไปจากเดิม กล่าวคือ หมายถึงส่วนทั้งหลายที่ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่าง องคาพยพขององค์กร องคาพยพของหน่วยงาน องคาพยพของสังคม หรือองคาพยพของประเทศ เช่น การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจะต้องให้ครอบคลุมทุกองคาพยพของภาครัฐภาคเอกชน. ขณะนี้เรามาถึงจุดเปลี่ยนที่ทุกองคาพยพของสังคมไทยมีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาประเทศ …
…………..
ตามความหมายที่มักใช้กันดังที่กล่าวในบทวิทยุข้างต้น เป็นอันจำกัดความขึ้นใหม่ว่า
“องฺค–องค” หมายถึง “ตัว” อย่างในคำว่า “แต่งองค์ทรงเครื่อง” คือแต่งตัว หรือเลียนเสียงและความหมายตรงกับคำฝรั่งว่า organ คือตัวใหญ่ที่ประกอบขึ้นมาจากตัวย่อย
ส่วน “อวยว–อพยพ” หมายถึง ส่วนย่อยที่ประกอบกันเข้าเป็นตัวใหญ่
ดังนั้น “องคาพยพ” จึงแปลตามความหมายใหม่ว่า “ส่วนย่อย ( = อวัยวะ) ที่ประกอบกันเข้าเป็นส่วนใหญ่ ( = องค์)” = an organ of the body or an institution; organization
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใหญ่จริง ต้องเล็กได้
: ถ้าเล็กไม่ได้ ก็ใหญ่ไม่จริง
#บาลีวันละคำ (4,447)
15-8-67
…………………………….
…………………………….