สวดญัตติ (บาลีวันละคำ 2,227)
สวดญัตติ
สวดอะไร?
อ่านว่า สวด-ยัด
ประกอบด้วยคำว่า สวด + ญัตติ
(๑) “สวด”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สวด : (คำกริยา) ว่าเป็นทํานองอย่างพระสวดมนต์ เช่น สวดสังคหะ สวดพระอภิธรรม; (ภาษาปาก) นินทาว่าร้าย, ดุด่า, ว่ากล่าว, เช่น ถูกแม่สวด.”
ในที่นี้ “สวด” หมายถึง ประกาศกิจการในท่ามกลางสงฆ์ตามแบบแผนที่กำหนด คำประกาศหรือคำ “สวด” นั้นเป็นภาษาบาลี เช่น “สวดพระปาติโมกข์” (สวดศีล 227 ข้อของภิกษุ) “สวดกฐิน” (สวดยกผ้ากฐินให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในพิธีกรานกฐิน) “สวดนาค” (สวดประกาศในพิธีบรรพชาอุปสมบท) เป็นต้น
“สวดกฐิน” “สวดนาค” ตามที่ยกมานี้เป็นภาษาปาก ภาษาทางพระวินัยเรียกว่า “สวดกรรมวาจา” (ระบุว่าเป็นเรื่องอะไร)
“สวด” ตามความหมายนี้เป็นคนละอย่างกับสวดมนต์ สวดสังคหะ หรือสวดพระอภิธรรมอย่างที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้
(๒) “ญัตติ”
บาลีเป็น “ญตฺติ” (ยัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ญา > ญ), แปลง ติ เป็น ตฺติ
: ญา + ติ = ญาติ > ญติ > ญตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การบอกให้รู้” “การบอกให้เข้าใจกัน” หมายถึง การประกาศ, การแจ้งให้ทราบ (announcement, declaration)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ญตฺติ” เป็นอังกฤษว่า a motion
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า –
“ญัตติ : คำเผดียงสงฆ์, การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน, วาจานัด.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ญัตติ : (คำนาม) คำสวดประกาศเป็นภาษาบาลี เสนอให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบเพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน, คำเผดียงสงฆ์ ก็ว่า; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อเสนอเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกิจการของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ; ข้อเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่; หัวข้อโต้วาที เช่น โต้วาทีในญัตติว่า ขุนช้างดีกว่าขุนแผน. (ป.).”
ดูเพิ่มเติม : “ญัตติ” บาลีวันละคำ (2,225) 16-7-61
สวด + ญัตติ = สวดญัตติ เป็นคำไทยประสมบาลี แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “สวดซึ่งญัตติ”
“ญัตติ” ในที่นี้ตัดมาจากคำว่า “ญัตติจตุตถกรรม” (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ญัตติจตุตถกรรม : กรรมมีญัตติเป็นที่สี่ ได้แก่สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนา คำประกาศขอมติ ถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่.”
ขยายความ :
ในพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อผ่านขั้นตอนบรรพชาเป็นสามเณรไปแล้ว สามเณรจะเข้าไปขออุปสมบทท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ภิกษุผู้เป็น “คู่สวด” คือ “พระกรรมวาจาจารย์” และ “พระอนุสาวนาจารย์” จะสวดประกาศให้สงฆ์ทราบและขอให้สงฆ์ลงมติว่าจะรับกุลบุตรนั้นเข้าเป็นภิกษุหรือไม่
คำสวดประกาศนั้นเรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ-มะ-วา-จา) จึงเรียกว่า “สวดญัตติจตุตถกรรมวาจา”
“สวดญัตติจตุตถกรรมวาจา” เรียกตัดสั้นว่า “สวดญัตติ”
“สวดญัตติ” น่าจะอ่านว่า สวด-ยัด-ติ แต่คนเก่านิยมพูดตามสะดวกปากว่า “สวด-ยัด” คือออกเสียง “-ญัตติ” ว่า “ยัด”
เมื่อพูดว่า “สวดยัด” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าคือ “สวดญัตติจตุตถกรรมวาจา”
คำว่า “สวดญัตติ” (สวดยัด) มักใช้ในความหมายเฉพาะกรณีที่สามเณรอายุครบบวชทำพิธีอุปสมบทเท่านั้น บางทีก็เรียกสั้นๆว่า “ยัด-ติ” (คือ “ญัตติ”) เช่น “สามเณรทองย้อย ‘ยัด-ติ’ เป็นพระ”
ส่วนกรณีที่ผู้ชายทั่วไปขอบรรพชาอุปสมบท คือบวชพระ (ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนบวชเป็นสามเณรก่อน) ไม่นิยมเรียกว่า “สวดยัด” แต่จะเรียกการ “สวดญัตติจตุตถกรรมวาจา” เป็นภาษาปากว่า “สวดนาค”
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยถามชาววัดสมัยใหม่ว่า เคยได้ยินคำว่า “สวดยัด” บ้างหรือไม่ ปรากฏว่าแทบจะไม่มีใครเคยได้ยิน แม้ได้ยินก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
น่าวิตกว่า ยิ่งนานวัน เราก็ยิ่งรู้จักตัวเองกันน้อยลงไปทุกที
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่เรียนคำคนเก่า
: ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,227)