อุปัทวันตราย (บาลีวันละคำ 2,217)
อุปัทวันตราย
อ่านว่า อุ-ปัด-ทะ-วัน-ตะ-ราย ก็ได้ (อุ-)
อุบ-ปัด-ทะ-วัน-ตะ-ราย ก็ได้ (อุบ-)
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า อุปัทว + อันตราย
(๑) “อุปัทว”
บาลีเป็น “อุปทฺทว” (อุ-ปัด-ทะ-วะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ทุ (ธาตุ = เดือดร้อน, เบียดเบียน) + อ ปัจจัย ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ทฺ + ทุ), แผลง อุ ที่ ทุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ทุ > โท > ทว)
: อุป + ทฺ + ทุ = อุปทฺทุ + อ = อุปทฺทุ > อุปทฺโท > อุปทฺทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เข้าไปทำให้เดือดร้อน” (2) “สิ่งที่เข้าไปเบียดเบียน” หมายถึง อุปัทวเหตุ, เคราะห์ร้าย, ความทุกข์, การกดขี่ (accident, misfortune, distress, oppression)
บาลี “อุปทฺทว” สันสกฤตเป็น “อุปทฺรว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อุปทฺรว : (คำนาม) ‘อุตบาต,’ บีฑา, ประชาบีฑา, ‘ประชาบีฑน์’ ก็ใช้; เทศียทุกข์, จะเปนกฤต เปนกรรมน์ของฤดูกาลหรือของพระราชาก็ตามที, อนาหารสมัย, อุปบีฑา, ฯลฯ; เทศียกลหะ, ราชาภิโทฺรหะ; พลาตฺการ ( = พลการ); มารก, มารี ( = ห่า, โรคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งพลอยขนเอามานุษไปเสียคราวละมากๆ ในคราวที่มานุษเบียดเบียนกัน, ‘โรคพลอยเข้ากระทำมรณกรรม’ ก็ใช้); oppression, tyranny; national calamity, whether the act of the season or the king, famine, exaction, etc.; national commotion; rebellion; violence; pest, plague, a disease brought on whilst a person labours under another.”
บาลี “อุปทฺทว” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุปัทวะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปัทว-, อุปัทวะ : (คำวิเศษณ์) อุบาทว์, อัปรีย์, จัญไร, ไม่เป็นมงคล, นิยมใช้คู่กับคำ อันตราย เป็น อุปัทวันตราย. (ป. อุปทฺทว; ส. อุปทฺรว).”
(๒) “อันตราย”
บาลีเป็น “อนฺตราย” (อัน-ตะ-รา-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อย ทีฆะ อะ เป็น อา (อิ > อย > อาย)
: อนฺตร + อิ > อย > อาย : อนฺตร + อาย = อนฺตราย + อ = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ถึงในระหว่างจุติกับปฏิสนธิ” (2) “ภาวะเป็นเหตุให้ความสำเร็จแห่งการงานถึงความหยุดลงกลางคัน”
(2) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) + อายฺ (ธาตุ = เดือดร้อน) + อ ปัจจัย,
: อนฺตร + อายฺ = อนฺตราย + อ = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้เดือดร้อนในระหว่างจุติกับปฏิสนธิ”
(3) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) อา (คำอุปสรรค กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ อิ เป็น ย (อิ > อย)
: อนฺตร + อา = อนฺตรา + อิ > อย = อนฺตราย + อ = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่มาในระหว่าง” (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลตรงกันว่า “coming in between”)
“อนฺตราย” (ปุงลิงค์) หมายถึง อุปสรรค, การขัดขวาง, สิ่งกีดขวาง, การป้องกัน, เครื่องกีดขวาง, อันตราย, อุบัติเหตุ (obstacle, hindrance, impediment; prevention, bar; danger, accident)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อนฺตราย” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“อนฺตราย : (คำนาม) อุปสรรค, เครื่องกีดขวาง; ภัย; obstacle, impediment, peril.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันตราย : (คำนาม) เหตุที่อาจทําให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ. (ป., ส. อนฺตราย ว่า อุปสรรคหรือภัยอันมาในระหว่าง).”
อุปทฺทว + อนฺตราย = อุปทฺทวนฺตราย (อุ-ปัด-ทะ-วัน-ตะ-รา-ยะ) แปลว่า “เคราะห์ร้ายและเหตุร้าย”
“อุปทฺทวนฺตราย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุปัทวันตราย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปัทวันตราย : (คำนาม) สิ่งอุบาทว์และอันตราย. (ป. อุปทฺทว + อนฺตราย).”
เมื่อเกิดเรื่องร้ายๆ ไม่ว่าจะแก่ส่วนตัวหรือส่วนรวม ผู้รู้ท่านว่ามักจะมีคนคิดเห็นกันไปเป็น 3 จำพวก คือ –
๑ ปุพฺเพกตเหตุ (ปุบ-เพ-กะ-ตะ-เห-ตุ) เป็นเพราะเคราะห์กรรมเคยทำไว้แต่ปางก่อน
๒ อิสฺสรนิมฺมานเหตุ (อิด-สะ-ระ-นิม-มา-นะ-เห-ตุ) เป็นเพราะอำนาจนอกเหนือการควบคุมบางอย่างมาบันดาลให้เป็นไป
๓ อเหตุอปฺปจฺจยา (อะ-เห-ตุ-อับ-ปัด-จะ-ยา) เพราะบังเอิญเป็นไป หรือพูดให้น่าฟังหน่อยก็ว่า-เพราะเหตุปัจจัยมันมาประจวบกันเข้าเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าจะโทษเคราะห์กรรม
: อย่าลืมโทษการกระทำของตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,217)
8-7-61