บาลีวันละคำ

บุริมพรรษา – ปัจฉิมพรรษา (บาลีวันละคำ 2,237)

บุริมพรรษา – ปัจฉิมพรรษา

ถึงเวลาที่จะต้องทบทวน

บุริมพรรษา” พจนานุกรมฯ บอกว่า อ่านว่า ปุ-ริม-มะ-พัน-สา ก็ได้ บุ-ริม-พัน-สา ก็ได้

ปัจฉิมพรรษา” พจนานุกรมฯ บอกว่า อ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ-พัน-สา ก็ได้ ปัด-ฉิม-พัน-สา ก็ได้

หมายเหตุบาลีวันละคำ :

การอ่านว่า ปุ-ริม-มะ-พัน-สา และ ปัด-ฉิม-มะ-พัน-สา (อ่านตามหลักการอ่านคำสมาส) เป็นการอ่านแบบ “รักงาม”

การอ่านว่า ปุ-ริม-พัน-สา และ ปัด-ฉิม-พัน-สา (อ่านตามสะดวกปาก) เป็นการอ่านแบบ “รักง่าย”

มีศัพท์ที่ควรทราบ 3 คำ คือ “บุริม” “ปัจฉิม” และ “พรรษา

(๑) “บุริม

บาลีเป็น “ปุริม” อ่านว่า ปุ-ริ-มะ รากศัพท์มาจาก ปุร (ก่อน, เบื้องหน้า) + อิม (อิ-มะ) ปัจจัย

: ปุร + อิม = ปุริม (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-ที่มีมาก่อน” “ที่มีในเบื้องหน้า” หมายถึง มาก่อน, ก่อน, เกิดก่อน, แต่ก่อน (preceding, former, earlier, before)

ปุริม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุริม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุริม– : (คำวิเศษณ์)  ตะวันออก; ก่อน. (ป. ปุริม; ส. ปุรสฺ + อิม).”

(๒) “ปัจฉิม

บาลีเป็น “ปจฺฉิม” อ่านว่า ปัด-ฉิ-มะ รากศัพท์ประกอบด้วย ปจฺฉา (ภายหลัง) + อิม (อิ-มะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ (ปจฺฉ-) (ปจฺฉา > ปจฺฉ)

: ปจฺฉา > ปจฺฉ + อิม = ปจฺฉิม แปลตามศัพท์ว่า “-ที่มีในภายหลัง

ปจฺฉิม” หมายถึง :

(1) หลังที่สุด, อยู่ข้างหลัง, หลัง, สุดท้าย, รั้งท้าย (hindmost, hind- , back- , last, latest)

(2) ทางตะวันตก (western)

(3) ต่ำที่สุด, เลวที่สุด (lowest, meanest)

ปจฺฉิม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจฉิม” ถ้าใช้เดี่ยวๆ อ่านว่า ปัด-ฉิม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉิม, ปัจฉิม– : (คำวิเศษณ์). ตะวันตก; ภายหลัง, ทีหลัง, ข้างหลังสุด. (ป. ปจฺฉิม).”

(๓) “พรรษา

บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

บาลี “วสฺส” สันสกฤตเป็น “วรฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วรฺษ : (คำนาม) ‘วรรษ,’ ฝน; การประพรม; ปี; พลาหก; ฝนหรือฤดูฝน; rain; sprinkling; a year; a cloud; the rain, or rainy season.”

บาลี “วสฺส” สันสกฤต “วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –

1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา

2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา

การประสมคำ :

(๑) บุริม + พรรษา = บุริมพรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุริมพรรษา : (คำนาม) “พรรษาต้น”, ช่วงระยะเวลาที่ภิกษุเข้าอยู่จำพรรษาต้น คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑, ปุริมพรรษา ก็ว่า, คู่กับ ปัจฉิมพรรษา. (ป. ปุริม + ส. วรฺษ).”

(๒) ปัจฉิม + พรรษา = ปัจฉิมพรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉิมพรรษา : (คำนาม) “พรรษาหลัง”, ช่วงระยะเวลาที่ภิกษุเข้าอยู่จำพรรษาหลัง คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, คู่กับ บุริมพรรษา หรือ ปุริมพรรษา. (ป. ปจฺฉิม + ส. วรฺษ).”

อภิปราย :

การที่ต้องมี “บุริมพรรษา” เข้าพรรษาต้น คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ครั้งหนึ่ง และมี “ปัจฉิมพรรษา” เข้าพรรษาหลัง คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 อีกครั้งหนึ่ง ผู้รู้สันนิษฐานสาเหตุเป็น 2 นัย

นัยหนึ่ง : เกิดจากเมื่อถึงวันเข้าพรรษาตามปกติ (แรม 1 ค่ำ เดือน 8) มีภิกษุบางรูปเกิดความจำเป็นไม่สามารถไปถึงสถานที่ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นที่จำพรรษาได้ทัน (เช่นอยู่ในระหว่างเดินทางเป็นต้น) เมื่อมาถึงก็ล่วงเลยวันเข้าพรรษาไปแล้ว และภิกษุที่อยู่ในที่นั้นก็อธิษฐานพรรษาไปตามปกติแล้ว จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่มาไม่ทันไปเริ่มนับวันเข้าพรรษาในเดือนถัดไป คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 9 จึงเรียกการเข้าพรรษาตามวันปกติว่า “บุริมพรรษา” และเรียกการเข้าพรรษาในเดือนถัดไปว่า “ปัจฉิมพรรษา

อย่างไรก็ตาม ภิกษุที่เข้าพรรษาหลังตามนัยนี้ในพระวินัยกำหนดว่าไม่ได้รับอานิสงส์กฐิน คือไม่มีสิทธิ์รับกฐิน แต่มีสิทธิ์เป็นคณปูรกะได้ กล่าวคือกรณีที่ภิกษุซึ่งเข้าพรรษาต้นในวัดนั้นมีไม่ครบ 5 รูป สามารถเอาภิกษุที่เข้าพรรษาหลัง (ในวัดเดียวกันนั้น) มาร่วมเป็นองค์สงฆ์เพื่อให้ครบ 5 รูปแล้วรับกฐินได้ แต่ถึงกระนั้นภิกษุที่เข้าพรรษาหลังซึ่งมาเข้าร่วมเป็นองค์สงฆ์นั้นก็คงไม่ได้รับอานิสงส์กฐินอยู่นั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง : เกิดจากกรณีที่ปีนั้นเป็นปีอธิกมาสตามการคำนวณของทางบ้านเมือง คือกำหนดให้มีเดือน “อาสาฬหะ” 2 เดือน เรียกเดือนอาสาฬหะแรกว่า “บูรพาสาฬหะ” แปลว่าเดือนอาสาฬหะแรก คือเดือน 8 แรก เรียกเดือนอาสาฬหะหลังว่า “อุตตราสาฬหะ” แปลว่าเดือนอาสาฬหะที่ยิ่งขึ้นไป หรือเดือนอาสาฬหะหลัง คือเดือน 8 หลัง มีพุทธานุญาตให้เลื่อนวันเข้าพรรษาไปเป็นเดือนอาสาฬหะหลัง

ตามนัยนี้ ได้ความว่า “บุริมพรรษา” คือวันเข้าพรรษาในปีปกติ “ปัจฉิมพรรษา” คือวันเข้าพรรษาในปีที่มีอธิกมาส และตามนัยนี้ “ปัจฉิมพรรษา” คงมีผลคือมีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับ “บุริมพรรษา” นั่นเอง

การควรจะเป็นไปตามนัยไหน พึงพิจารณาโดยแยบคายเถิด

อนึ่ง ตามค่านิยมอันมีมาแต่เดิม เป็นที่ตกลงกันว่า ช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน ทั้งชาววัดและชาวบ้านจะตั้งกติกาเพื่อบำเพ็ญธรรมสัมมาปฏิบัติให้เข้มข้นแข็งแรงขึ้นกว่าในเวลาปกติ เช่น วัดต่างๆ จะทำวัตรสวดมนต์ในเวลาตีสี่อีกเวลาหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเวลาเช้า-เย็นที่ทำอยู่เป็นปกติ ชาวบ้านตั้งปฏิญญาว่าจะงดดื่มสุราเมรัยตลอดเวลา 3 เดือน ดังนี้เป็นต้น

ช่วงเวลาเข้าพรรษาจึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างคึกคักเข้มแข็งผิดจากเวลาปกติตลอดถ้วนไตรมาส

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เข้าพรรษาจะเป็นช่วงเวลาที่ไร้สาระ

: ถ้าไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรมะให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

#บาลีวันละคำ (2,237)

28-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย