บาลีวันละคำ

บรรทัดฐาน (บาลีวันละคำ 2,231)

บรรทัดฐาน

บาลีว่าอย่างไร

อ่านว่า บัน-ทัด-ถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรทัดฐาน : (คำนาม) แบบแผนสําหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ; เหตุที่ตั้งเป็นเครื่องถึง, เหตุอันใกล้ที่สุด; ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า.”

บรรทัดฐาน” พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า”

ปทัสถาน” เป็นรูปคำสันสกฤต “ปทัฏฐาน” เป็นรูปคำบาลี

ปทัฏฐาน” อ่านว่า ปะ-ทัด-ถาน บาลีเป็น “ปทฏฺฐาน” อ่านว่า ปะ-ทัด-ถา-นะ แยกศัพท์เป็น ปท + ฐาน

(๑) “ปท” (ปะ-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ปัจจัย

: ปทฺ + = ปท แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน

(2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย

(3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

ปท” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :

(1) เท้า (foot)

(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)

(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)

(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place

(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)

(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)

(๒) “ฐาน” บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :

(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)

(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)

(3) ที่ตั้ง (location)

(4) อิริยาบถยืน (standing position)

(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)

(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)

(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)

(8) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส  อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)

ปท + ฐาน ซ้อน ฏฺ (ปท + ฏฺ + ฐาน)

: ปท + ฏฺ + ฐาน = ปทฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งเหตุ

ขยายความ :

ในที่นี้ “ปท” ท่านหมายถึง “เหตุ” คือสิ่งที่จะยังผลให้เกิดขึ้นต่อไป หมายความว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น แล้วเอาเหตุมาตั้งไว้บน “ฐาน” นี้แล้วดำเนินการไปตามกรอบขอบเขตของ “ฐาน” ซึ่งถูกต้องเที่ยงธรรม ถ้าเป็นเหตุชนิดเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมจะถูกต้องตรงกันเป็นแบบเดียวกัน เช่น –

ถ้าทำถูก ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำ ก็ได้รับคุณคือความดีงามถูกต้องเหมือนกัน

ถ้าทำผิด ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำ ก็ได้รับโทษคือความเสียหายเลวร้ายเหมือนกัน

บรรทัดฐาน” พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า”

ดูที่คำว่า “ปทัสถาน” และ “ปทัฏฐาน” คำนิยามก็ตรงกันกับ “บรรทัดฐาน

เป็นอันว่า “บรรทัดฐาน” “ปทัสถาน” และ “ปทัฏฐาน” มีความหมายเหมือนกัน

คำว่า “ปทัสถาน” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า norm

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล norm เป็นไทยว่า –

1. ภาวะปกติ

2. แบบอย่าง, บรรทัดฐาน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล norm เป็นบาลี ดังนี้ :

(1) niyāma นิยาม (นิ-ยส-มะ) = กฎ, ข้อกำหนด

(2) sutta สุตฺต (สุด-ตะ) = เส้นบรรทัด, กฎ

(3) niddassana นิทฺทสฺสน (นิด-ทัด-สะ-นะ) = หลักฐาน, ข้อกำหนด

แถม :

คำว่า “บรรทัด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ข้อความที่เขียนหรือพิมพ์เป็นต้นต่อเนื่องกันเป็นแถวเป็นแนวแต่ละแนว เช่น ตัดบรรทัดที่ ๒๐ ออก, ลักษณนามว่า บรรทัด เช่น ให้เขียนเรียงความอย่างน้อย ๕๐ บรรทัด,

(2) เรียกตัวหนังสือที่เขียนเต็มช่วงระหว่างเส้นบรรทัด ๒ เส้นว่า ตัวเต็มบรรทัด,

(3) เรียกตัวหนังสือที่เขียนเพียงครึ่งหนึ่งของช่วงระหว่างเส้นบรรทัด ๒ เส้นว่า ตัวครึ่งบรรทัด,

(4) เรียกอุปกรณ์การเขียนชนิดหนึ่งทําด้วยไม้เป็นต้น สําหรับทาบเป็นแนวเพื่อขีดเส้นให้ตรง ว่า ไม้บรรทัด,

(5) เรียกเส้นที่ตีหรือพิมพ์ไว้บนกระดาษเป็นต้นเพื่อเขียนหรือพิมพ์ตัวอักษรบนเส้น ใต้เส้น หรือระหว่างเส้น ว่า เส้นบรรทัด.

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าคำว่า “บรรทัด” มาจากภาษาอะไร

อย่างไรก็ตาม คำว่า “บรรทัดฐาน” กับ “ปทัฏฐาน” เสียงและรูปใกล้เคียงกันมาก

ถ้าบอกว่า “ปทัฏ-” กลายรูปและเสียงเป็น “บรรทัด” ก็เป็นการจับบวชที่หลายท่านคงยินดีที่จะร่วมอนุโมทนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่ใช้ธรรมเป็นบรรทัด

: คนกับสัตว์ก็พอๆ กัน

#บาลีวันละคำ (2,231)

22-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย