บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถูกต้องตามกฎหมาย

ถูกต้องตามกฎหมาย

———————

ปัญหาเรื่องการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีญาติมิตรท่านหนึ่งแสดงความเห็นไว้น่าฟัง เป็นใจความว่า –

……….

การระบุให้มีศาสนาประจำชาติ ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะได้ประโยชน์อะไร

บัญญัติแล้วจะทำอะไรได้ ทำเป็นหรือเปล่า ทำดีหรือทำเลว

ดูแต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งขึ้นมาแล้ว มี สนง.ทุกจังหวัด แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

เพราะไม่มีใครทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม

พระก็เทศน์ไม่ได้ต่างจากเดิม

เครื่องรางของขลังก็ยังเป็นธุรกิจร้อยล้านพันล้านเหมือนเดิม

……….

ผมขออนุญาตแสดงความเห็น-ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นความเห็นต่างหรือเห็นแย้ง-บอกได้แต่ว่า ผมพิจารณาเฉพาะตัวความเห็น ไม่ได้เอาตัวเจ้าของความเห็นมาอยู่ในวงพิจารณาด้วย 

ผมเคยเห็นเพื่อนที่ขัดแย้งกันแทบจะทุกเรื่อง 

เจอคู่นี้ที่ไหน มันเถียงกันไม่ขาดปาก

แต่เป็นห่วงเป็นใยกัน รักกันชนิดตายแทนกันได้

ความเปิดใจกว้างนั่นเองทำให้คนเรารักกันแบบสุดๆ

————-

ตามความจริงนั้น เจตนาของการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไม่ใช่เพื่อจะให้พระเทศน์ดีขึ้นกว่าเดิม 

หรือเพื่อให้เครื่องรางของขลังหมดไปจากแวดวงพระศาสนา 

หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกที่ไม่ได้ยกขึ้นมาพูด เช่นเพื่อให้อลัชชีหมดไปจากศาสนา และเพื่อให้พระสงฆ์ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่ในกรอบพระธรรมวินัยโดยทั่วกันมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้พระพุทธศาสนาสถิตสถาพรคู่แผ่นดินไทยไปชั่วฟ้าดินสลาย

เรื่องที่ไม่พึงประสงค์ แต่มี และเรื่องที่พึงประสงค์ แต่ไม่มี-เหล่านี้และเหล่าไหนอีกก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุที่ไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

แต่เกิดจากความย่อหย่อนอ่อนแอของผู้บริหารการพระศาสนา

และความย่อหย่อนอ่อนแอนั้นก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่ไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแต่ประการใดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องเอาเรื่องพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ดังกล่าวนั้นมาเป็นเงื่อนไขกับเรื่องบัญญัติหรือไม่บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

เช่นถ้าจะแก้ไขเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ เราก็สามารถลงมือปฏิบัติการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ใครมาบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเสียก่อนจึงจะทำได้

คนที่รักพระศาสนา เมื่อเห็นความบกพร่อง ความไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ซึ่งผมเรียกรวมๆ ว่าเรื่องไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นในพระศาสนา เขาควรทำอย่างไร

————

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างและขยายความเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องพระเทศน์

ในตัวความเห็นบอกว่า “พระก็เทศน์ไม่ได้ต่างจากเดิม” ผมไม่ทราบว่าหมายถึงแง่มุมไหน แต่แง่มุมที่ผมเห็นก็คือ เท่าที่ฟังเทศน์เดี๋ยวนี้ พระไม่ได้แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า แต่แสดงธรรมของข้าพเจ้า 

หมายความว่า พระเดี๋ยวนี้เมื่อจะแสดงธรรมท่านไม่ได้ค้นคว้าพระบาลีอรรถกถาฎีกาและอาจริยมติที่มีปรากฏอยู่แล้วนำมาแสดง 

แต่ท่านแสดงไปตามความเห็นความชอบใจของท่านล้วนๆ

ขออนุญาตขยายความ

พระธรรมเป็นของพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของพระธรรมดังที่มีคำเรียกว่า “พระธรรมสามี” 

พระธรรมกถึกไม่ใช่เจ้าของพระธรรม พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมไม่ได้เป็นผู้คิดพระธรรมขึ้นมาได้เองเมื่อวานนี้

และเราทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นคนแรกที่ได้ฟังได้เรียนพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น 

มีท่านผู้อื่นที่เรียกรวมอยู่ในคำว่า “บูรพาจารย์” หรือ “โบราณาจารย์” ท่านได้เรียนได้รู้ได้เห็นมาก่อนเรานานนักหนาแล้ว 

ท่านเหล่านั้นเมื่อได้เรียนรู้เห็นแล้วท่านก็ถ่ายทอดออกมาเป็นคำอธิบายขยายความที่เรียกว่าอรรถกถาฎีกาและอาจริยมติ 

หน้าที่ของผู้แสดงธรรมก็มีเพียงศึกษาค้นคว้าพระบาลีคำสอนต้นเดิมและอรรถกถาฎีกาอาจริยมติเหล่านั้นแล้วนำมาแสดง 

ธรรมะแต่ละข้อบูรพาจารย์หรือโบราณาจารย์ท่านได้ขบได้คิดและถ่ายทอดไว้แล้ว 

หน้าที่ของผู้แสดงธรรมก็คือศึกษาให้รู้เข้าใจแล้วนำมาแสดง 

ที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าห้ามคิดห้ามเห็นเป็นอย่างอื่น ที่เดี๋ยวนี้นิยมเรียกว่า “เห็นต่าง” ต้องคิดต้องเห็นตามที่ท่านคิดไว้ให้แล้วเท่านั้น – ไม่ใช่อย่างนั้น

ผู้แสดงธรรมมีสิทธิ์คิดต่างเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ 

แต่ผู้แสดงธรรมที่ดีต้องเป็นนักศึกษาที่ดี มีความซื่อตรงต่อธรรม คือต้องศึกษาแล้วนำมาแสดงตามลำดับ 

เริ่มด้วยพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ 

อรรถกถาอธิบายว่าอย่างนี้ 

ฎีกาอธิบายว่าอย่างนี้ 

อาจริยมติ คือความเห็นของครูบาอาจารย์รุ่นต่อๆ มาอธิบายว่าอย่างนี้ 

แล้วจึงมาถึงตัวผู้แสดงเอง ถ้าเห็นต่างก็แสดงออกไปว่าข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้ 

นี่คือวิธีแสดงธรรมที่ถูกต้อง

ด้วยวิธีการอย่างนี้ ผู้สดับก็จะได้ความรู้ความเห็นครบถ้วน กล่าวตามภาษาวิชาการก็ว่าได้ข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ด้วยตนเองว่าจะเชื่ออย่างไรหรือจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป 

ไม่ใช่ได้ฟังแต่ความเห็นของผู้แสดงอย่างเดียวโดยที่แทบจะไม่ได้เอ่ยอ้างเลยด้วยซ้ำไปว่า-เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้อย่างไร

และด้วยวิธีการเช่นนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะมาสู่การสดับของผู้ฟังอย่างครบถ้วนตลอดสาย จะดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมั่นคงลงตัว ไม่วิปริตผิดเพี้ยนไปตามความเข้าใจเอาเองของใครๆ

แต่พระเทศน์ทุกวันนี้ส่วนมากหาได้ดำเนินตามหลักการเช่นที่ว่านี้ไม่ 

เท่าที่ได้ฟัง ท่านทำเพียงแค่ยกหัวข้อธรรมขึ้นตั้งตามแบบแผน จบ อิติ แล้วก็ทิ้งไว้ตรงนั้น ต่อจากนั้นก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองเตลิดเพลิดเพลินไปจน เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

บ่อยมากที่พบว่า ยกบทอุเทศแล้วก็ไม่ได้อธิบายความหมายในบทอุเทศนั้นเลยแม้แต่คำเดียว 

พรรณนาอะไรต่อมิอะไรนอกอุเทศไปมากมาย ยกบทนี้ไปต่อกับบทโน้นเรื่อยเจื้อยไปจนไม่รู้ว่ากำลังเทศน์เรื่องอะไรกันแน่

ที่ว่ามานี้คือเรื่องไม่พึงประสงค์ที่ผมเห็น 

และแหล่งที่ผมเห็นบ่อยที่สุดก็คือ-จากรายการแสดงพระธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เห็นแล้วทำอย่างไร

วิธีการที่ผมทำในฐานะคนรักพระศาสนาก็คือ ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ชี้แจงหลักการตามที่กล่าวมาและเสนอแนะวิธีการว่าควรทำอย่างนี้ๆ เพื่อนำไปสู่ผลที่พึงประสงค์ คือพระธรรมกถึกต้องแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แสดงความเห็นของผู้แสดงธรรม

เมื่อได้เสนอไปแล้ว ต่อจากนั้น ผู้รับผิดชอบจะทำอย่างไร จะทำตามหรือไม่ทำตาม ก็ว่ากันต่อไป

————

จะเห็นได้ว่า ผมสามารทำได้เต็มที่โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบัญญัติหรือไม่บัญญัติศาสนาประจำชาติอะไรเลย

เรื่องไม่พึงประสงค์อื่นๆ ก็สามารถทำได้ด้วยหลักการเดียวกันนี้

เช่นใครเห็นว่าพระหรือวัดสร้างเครื่องรางของขลังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ศึกษาดูสิครับว่าเรื่องนี้ใครกำกับดูแล แล้วเสนอความเห็นไปถึงที่นั่น 

หรือจะบุกไปด้วยตัวเองก็ยิ่งดี 

หรือจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมต่อต้านด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ 

หรือจะทำด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าอะไรควรเป็นอะไร ก็ยิ่งประเสริฐนัก 

ตัวเองมีแนวความคิดที่เชื่อแน่ว่าดีงามถูกต้อง แต่ทำเองไม่เป็น หรือทำเป็นแต่ไม่มีเวลาทำ ก็หาทางร่วมมือหรือเสนอแนวคิดไปยังคนที่เขาทำเป็นทำได้ให้ช่วยกันทำก็ยังได้

จะเห็นได้ว่า นอกจากวิธีนั่งนอนตำหนิติเตียนอันเป็นวิธีที่คนส่วนมากถนัดและนิยมใช้กันแล้ว หนทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้จริงยังมีอีกตั้งหลายวิธี โดยไม่ต้องรอหรือไม่ต้องโยงไปถึงเรื่องการบัญญัติศาสนาประจำชาติอะไรนั่นเลย ขอเพียงให้มีใจรักพระศาสนาจริงและโดยสุจริตเท่านั้น

เมื่อได้ลงมือทำจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว นั่นแหละควรภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว จะมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น เราก็ยังคงมีสิทธิ์ภาคภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว

สรุปว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องเอาไปเกี่ยวกับการบัญญัติหรือไม่บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

————

เอาละ ทีนี้ ถ้าการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไม่เกี่ยวกับการที่จะขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์และก่อให้เกิดสิ่งที่พึงประสงค์ขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเช่นนั้นแล้ว –

ถามว่า จะเรียกร้องให้บัญญัติไปเพื่อประโยชน์อะไร

ขอตอบว่า เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายครับ

ถ้าฟังคำตอบแบบนี้แล้วยังงงอยู่ ก็จงฟังคำอธิบายต่อไป

————

ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ 

ในทางวิชาการ นิติรัฐจะหมายความว่าอย่างไรก็หมายไป แต่ในความหมายของผม นิติรัฐหมายถึงประเทศที่จะทำหรือจะไม่ทำอะไรก็ยึดเอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นหลัก

กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ใครทำตามนั้นได้ นั่นคือถูก

ใครไม่ได้ทำตามนั้น ก็คือไม่ถูก

ยกตัวอย่างอาจจะเข้าใจได้ชัด

นาย เอ ฆ่าคนตาย 

ฆ่าจริง ตายจริง

ตามข้อเท็จจริง นาย เอ ทำความผิด ต้องได้รับโทษ

แต่ถ้านาย เอ สามารถแสดงพยานหลักฐานได้แน่นหนาจนแย้งไม่ได้ ว่าตนไม่ได้ฆ่า

กฎหมายก็ต้องตัดสินว่านาย เอ ไม่มีความผิด 

นาย เอ ก็ไม่ต้องได้รับโทษ

นี่ก็คือที่เราพูดกันว่า-ถูกต้องตามกฎหมาย

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังเกิดขึ้นในสังคมนิติรัฐ

อีกตัวอย่างหนึ่ง นาย บี ขอเด็กชาย ซี มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม 

ในหมู่ญาติพี่น้องและคนทั่วไปรู้เห็นเข้าใจตรงกันหมดตามขอเท็จจริงว่า เด็กชาย ซี เป็นลูกบุญธรรมของนาย บี

แต่ถ้านาย บี ไม่ได้จดทะเบียนรับเด็กชาย ซี เป็นลูกบุญธรรมตามกฎหมาย เด็กชาย ซี ก็ไม่ใช่ลูกบุญธรรมของนาย บี 

สิทธิประโยชน์ใดๆ ที่ลูกบุญธรรมจะพึงได้รับตามกฎหมาย เด็กชาย ซี จะขอรับสิทธิประโยชน์นั้นๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ลูกบุญธรรมตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงนั้นใช่พันเปอร์เซ็นต์

กฎหมายอาจจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการสืบค้นจนได้ผลออกมาว่า “ถือได้ว่าเด็กชาย ซี เป็นลูกบุญธรรมตามกฎหมายแล้ว” เด็กชาย ซี ก็จึงมีสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่นั่นก็เป็นสิทธิ์ที่ต้องค้นหาและเค้นออกมา ซึ่งต้องเสียเวลาและอาจไม่ประสบความสำเร็จถ้าไม่ฉลาดพอ 

แต่ถ้าจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียแล้ว ปัญหาก็จบทันที ไม่ต้องมาเถียงอะไรกันอีก

เวลานี้สังคมอ้างอิงและยอมรับกันหมดแล้วถึงความ “ถูกต้องตามกฎหมาย” ดังว่านี้โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริงขึ้นมาต่อสู้หักล้างได้

ขออนุญาตชี้อีกตัวอย่างหนึ่ง 

นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นที่รู้เห็นกันทั่วโลกว่าท่านมีสามีแล้ว และยังมีอยู่ มีลูกด้วย ตัวท่านเองก็ไม่ได้ปิดบั่งซ่อนเร้นจากสังคมแต่ประการใด 

สตรีที่มีสามี มีลูกปรากฎชัดแจ้งในสังคม ตามที่ปฏิบัติกันทั่วไปก็คือใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาง” 

แต่นายกรัฐมนตรีหญิงของเราท่านใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ซึ่งเป็นที่รู้เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นคำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่แต่งงาน

ถามว่า ผิดไหม

ตอบยืนยันได้เลยว่า ไม่ผิด ถ้า-มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าสตรีสามารถใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ได้โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ๆ แล้วท่านนายกรัฐมนตรีหญิงของเราท่านได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นๆ แล้ว การใช้นำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ของท่านก็ถูกต้องแล้ว-ถูกต้องตามกฎหมาย

เห็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า “ถูกต้องตามกฎหมาย” หรือยัง

————–

เราต้องการให้พระพุทธศาสนาได้รับสิทธิอัน “ถูกต้องตามกฎหมาย” เช่นว่านี้ 

และไม่ควรเป็นสิทธิที่ต้องค้น ต้องเค้น ต้องตีความ จึงจะได้มา หากแต่เป็นสิทธิที่ได้มาชัดๆ ตรงๆ ตามกฎหมายนั่นเลย 

เป็นสิทธิอันถูกต้องตามกฎหมาย

ไม่ใช่สิทธิอันเกิดจากการตีความ

ที่พูดๆ อ้างๆ กันอยู่ในเวลานี้ หากพระพุทธศาสนาจะมีสิทธิอะไร ก็ล้วนแต่เป็นสิทธิอันเกิดจากการต้องตีความเสียก่อนทั้งสิ้น

เช่นอ้างว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะก็มีความหมายเท่ากับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้วในตัว

อย่างนี้เป็นต้น 

นี่คือต้องตีความว่าอย่างนี้จึงจะได้สิทธิ์

แล้วถ้าเกิดมีคนอื่นมาตีความเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างนี้ขึ้นมาล่ะ จะว่าอย่างไร

เพราะฉะนั้น วิธีที่ถูกต้องที่สุดก็คือ บอกลงไปตรงๆ ชนิดที่ไม่ต้องขึ้นกับการตีความของใครทั้งนั้น-ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

บางท่านอาจจะบอกว่า เราก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อยู่แล้วทั้งฉบับ เท่านั้นยังไม่พออีกหรือ จะเอาอะไรกันอีก

ขอเชิญไปศึกษา พรบ.คณะสงฆ์ดูเสียก่อน

พรบ.คณะสงฆ์เป็นแต่เพียงบอกว่า คณะสงฆ์คือใคร และจะอยู่กันอย่างไร

แต่ไม่ได้บอกไว้เลยว่าพระพุทธศาสนาคือใคร และมีสิทธิ์อะไรบ้างตามกฎหมาย

อันที่จริง แนวเทียบที่ชัดเจนในสังคมนิติรัฐก็คือ กรณีที่เราพูดกันเป็นภาษาง่ายๆ ว่า-เมียจดทะเบียนกับเมียไม่ได้จดทะเบียน

ชายหญิงอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส กฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยา 

ถ้าสามีรับราชการ ภรรยาเจ็บป่วยก็เบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ 

สิทธิอื่นใดอีกที่ภรรยาจะพึงได้รับ กฎหมายก็ไม่รับรองให้ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนได้สิทธิ์นั้น

ถ้าจะได้ ก็ต้องตีความกันเสียก่อนอย่างที่พูดมาแล้ว

เพราะฉะนั้น พูดสั้นๆ ว่า-เราขอจดทะเบียนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ-ตามกฎหมาย-เหมือนเมียที่อยู่กินกันมานานแล้วขอจดทะเบียนเพื่อให้เป็น “ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย” นั่นแหละ

ถ้าใครยังถามอีกว่าจะขอจดไปทำไม

ก็ย้อนไปตอบด้วยคำเดิมว่า-เพราะประเทศของเราเป็นนิติรัฐ 

จะทำอะไรได้หรือไม่ได้ 

จะเป็นอะไรได้หรือไม่ได้ 

ตลอดจนจะได้สิทธิ์อะไรหรือไม่ได้ 

เราอ้างกฎหมายเป็นหลักกันทั้งนั้น

ประเด็นนี้เคยมีผู้หยิบฉวยขึ้นมาอ้างแล้ว

หนังสือแบบเรียนเรื่อง พระพุทธศาสนา เล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า –

“พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่ชาติไทย ประวัติศาสตร์ยืนยันว่าไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย”

สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งเสนอให้ตัดข้อความนี้ออกจากแบบเรียนดังกล่าว ท่านให้เหตุผลว่า ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง “เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย”

เห็นฤทธิ์หรือยังครับ

เห็นฤทธิ์ของคำว่า “ถูกต้องตามกฎหมาย” กันหรือยัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสตรงๆ ไว้ว่า

“คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ” (พระราชดำรัสแก่พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ เมื่อ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗)

ก็ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายแท้ๆ ตรัสไว้ดังนี้ เขายังไม่เอามายึดถือว่าเป็นกฎหมายเลย เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการออกกฎหมาย

เพราะฉะนั้นจึงต้องระบุไว้ในตัวบทกฎหมายตรงๆ ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” จึงจะมีผลตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา เรามองข้ามข้อเท็จจริงข้อนี้ไปเสียหมด 

แต่ตอนนี้เราขอใช้สิทธิ์ตรงนี้

ผู้มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตั้งคำถามอีกแล้วว่า-บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้วจะมีอะไรดีขึ้น

จะมีอะไรดีขึ้นหรือไม่มีอะไรดีขึ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เก็บเอาไว้เฉ่งกันในสนามอื่น

เหมือนชายหญิงเขาพร้อมใจกันไปจดทะเบียนสมรส นายทะเบียนไม่ต้องถามเลยว่า จดทะเบียนแล้วคุณจะมีความสุขมากขึ้นไหม ภรรยาคุณจะทำกับข้าวอร่อยขึ้นหรือเปล่า เธอจะขยันงานบ้านงานเรือนขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

เมื่อเขามีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ก็จงทำหน้าที่รับจดทะเบียนไปให้เรียบร้อย

อีกนัยหนึ่ง อุปมาเหมือนข้าราชการที่ทำราชการมาด้วยความเรียบร้อย ถึงโอกาสที่จะได้ลาพักผ่อนประจำปี 

ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลาไม่มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามว่า คุณจะใช้วันลาพักผ่อนไปทำอะไร ถ้าเอาเวลาไปตกปลา ไม่อนุญาต ถ้าเอาเวลาไปไหว้พระ ๙ วัด จึงจะอนุญาต

เขาจะเอาวันลาพักผ่อนไปทำอะไร เป็นเรื่องของเขา

อนึ่ง ผู้มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายไม่ควรที่จะตั้งคำถามอีกแล้วว่า-บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว จะเอาศาสนาอื่นๆ ไปไว้ที่ไหน

การบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไม่ใช่การบัญญัติให้ศาสนาอื่นๆ ต้องออกไปจากชาติ 

เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

ศาสนาอื่นๆ มาตั้งหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทยได้อย่างสุขสบายเพราะอะไร ไปศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยดู แล้วจะรู้ด้วยตัวเองว่า-ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามแบบคนปัญญาไม่แข็งแต่อย่างใดเลย

————–

ลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งที่เราคงจะต้องเจอแน่ก็คือ-การอ้างเหตุผลว่า ประเทศเรามีศาสนาอื่นรวมอยู่ด้วย การบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเพียงศาสนาเดียวย่อมจะไม่เป็นธรรม ถ้าบัญญัติก็ควรจะบัญญัติให้ทุกศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเท่าเทียมกัน

นี่จะเป็นภูเขาหิมาลัยอีกลูกหนึ่งที่จะถูกยกขึ้นมาขวางทาง

ฝ่ายที่เรียกร้องจึงต้องเตรียมหาทางทลายภูเขาลูกนี้ให้ได้

สรุปว่า

๑ การเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจุดประสงค์อยู่ที่-เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

๒ ความเสื่อมหรือความเจริญของพระพุทธศาสนาเป็นคนละเรื่องกับการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอามาอ้างหรือเอามาผูกเข้าด้วยกัน เช่น-ตั้งหน่วยงานนั่นนี่โน่นขึ้นมาแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น หรือคอยจ้องกระทบซ้ำว่า-เห็นไหม บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น

๓ ผู้เป็นห่วงเรื่องความเสื่อมหรือความเจริญของพระพุทธศาสนา ย่อมสามารถลงมือช่วยกันขจัดความเสื่อมและสนับสนุนความเจริญได้อยู่แล้วตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะต้องรอให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเสียก่อนจึงจะทำได้

ใครเห็นช่องทางจะทำอะไรได้ก็จงลงมือช่วยกันทำ อย่าเอาแต่พูดว่าไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น

————-

ถ้าการระบุให้มีศาสนาประจำชาติ ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะได้ประโยชน์อะไร

การระบุให้มีศาสนาประจำชาติก็ย่อมจะไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันด้วยเช่นกันว่าจะต้องเสียอะไร 

แต่ประชาชนจะมีเหตุผลมากขึ้นในการที่จะไล่บี้ผู้บริหารการพระศาสนาได้เต็มมือและหนักมือขึ้นอย่างชนิดที่ไม่ต้องยั้งมือกันอีกต่อไป-ให้ขจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกไป และสร้างสรรค์สิ่งที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้น โดยไม่อืดอาด เฉื่อยชา ชักช้า งุ่มง่าม ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ แต่ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ-เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

๑๒:๐๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *