บาลีวันละคำ

ศักดินา (บาลีวันละคำ 2,241)

ศักดินา

เป็นภาษาอะไร

อ่านว่า สัก-ดิ-นา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศักดินา : (คำโบราณ) (คำนาม) อำนาจหรือสิทธิที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตามศักดิ์ของแต่ละคน เดิมเป็นการถือครองที่ดินคิดเป็นจำนวนไร่ ต่อมาถือเป็นการกำหนดสถานะ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคนในสังคม เช่น มหาอุปราช มีศักดินา ๑๐๐๐๐๐ เจ้าพระยาจักรี มีศักดินา ๑๐๐๐๐ ภิกษุรู้ธรรม เสมอนา ๖๐๐ ไพร่มีครัว มีศักดินา ๒๐ ยาจก วณิพก ทาส ลูกทาส มีศักดินา ๕ (สามดวง); (ภาษาปาก) คำประชดเรียกชนชั้นสูงหรือผู้ดีมีเงินว่าพวกศักดินา.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ศักดินา” เป็นภาษาอะไร แต่คำนิยามที่ว่า “อำนาจหรือสิทธิ” เป็นความหมายที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “ศักดิ” ก็คือ “ศกฺติ” ในสันสกฤตนั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศกฺติ” ไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”

สันสกฤต “ศกฺติ” บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)

: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” ถ้าออกเสียงว่า “สัก” ก็สะกดเป็น “ศักดิ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”

ในที่นี้ออกเสียงว่า สัก-ดิ จึงสะกดเป็น “ศักดิ” และหมายถึง อำนาจ, ความสามารถ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ “อำนาจหรือสิทธิ” ดังคำนิยามในคำว่า “ศักดินา” (ดูข้างต้น)

แล้ว “นา” มาจากไหน? :

ดูความหมายของคำว่า “ศักดินา” แล้วจะเห็นได้ว่า “นา” ก็คือคำไทยอันหมายถึงที่ดินสําหรับปลูกข้าวนั่นเอง

นา” มาต่อกับ “ศักดิ” ได้อย่างไร?

ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า ข้อความดั้งเดิมในภาษาไทยคงประสงค์จะพูดว่า “ท่านผู้นั้นชื่อนั้นมีตำแหน่งนั้นได้รับพระราชทานศักดิมีอำนาจครอบครองนาเป็นจำนวนเท่านั้นไร่

คำว่า “อำนาจครอบครอง” ท่านใช้คำสันสกฤตว่า “ศักดิ” (เข้าใจว่าเจตนาเดิมคงอ่านว่า “สัก” พยางค์เดียว)

พูดสั้นๆ ว่า “ท่านผู้นั้นมีศักดิถือครองนาเท่านั้นไร่

ต่อมาก็เขียนตัดลัดสั้นเข้าไปอีกเป็น “มีศักดินาเท่านั้นไร่

บางทีเมื่อเอาข้อความนี้ไปพูดไปเขียนก็อาจจะละจำนวนที่นากี่ไร่ไว้ในฐานเข้าใจ คงพูดแต่เพียงว่า “มีศักดินา” (เท่านั้นเท่านี้ไร่)

แล้วในที่สุดก็เหลือแต่เพียง “ศักดินา” แล้วเลยอ่านกันว่า สัก-ดิ-นา กลายเป็นคำอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเฉพาะขึ้นมา

คำเตือน : โปรดอย่าลืมว่าที่ว่ามานี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกิดมาเสียชาติ

: ถ้ามีศักดินามีอำนาจแล้วใช้ทำชั่ว

#บาลีวันละคำ (2,241)

1-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย