อุปสรรคไม่มี บารมีไม่แก่
อุปสรรคไม่มี บารมีไม่แก่
————————
ชื่อเรื่องข้างบนนี้เป็นคำของคนเก่า แต่ถ้อยคำไม่ตรงดีนัก
คำเก่าจริงๆ ท่านว่า “มารไม่มี บารมีไม่แก่”
เป็นคำพูดที่ได้เค้ามูลมาจากการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ในการสร้างมารมีนั้นมักจะมีมารมาผจญอยู่เสมอ
“มาร” หมายถึงอุปสรรค
“บารมี” หมายถึงความดีหรือคุณธรรม หรือเป้าหมายที่ปรารถนาจะไปให้ถึง หรือความสำเร็จที่พึงประสงค์
ผู้สร้างบารมีจึงต้องมีความตั้งใจมั่นคง เด็ดเดี่ยว มีความอดทนสูง และที่สำคัญ-ต้องระวังไม่ให้เสียศูนย์
คำกล่าวทำนองนี้อีกคำหนึ่งที่ผมชอบคือ –
“อุปสรรคคือส่วนล่วงหน้าของความสำเร็จ
เอาชนะอุปสรรคได้ ความสำเร็จจะตามมา”
จำได้ว่า-จำมาจากหนังสือ “เมื่อปราชญ์พบปราชญ์”
คำว่า “ส่วนล่วงหน้า” เป็นคำที่นิยมใช้ในวงการทหาร
เมื่อมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ หรือเมื่อผู้บังคับบัญชามีภารกิจที่จะต้องไปปฏิบัติ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทหารจะส่ง “ส่วนล่วงหน้า” ไปสำรวจหรือไปติดต่อเพื่อทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อน จนเห็นภาพชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ตัว operation จริงๆ หรือตัวผู้บังคับบัญชาจึงจะเข้าไปปฏิบัติภารกิจ
————
ในการบำเพ็ญธรรมทาน-คือพิมพ์หนังสือแจก-ก็มีอุปสรรคเช่นเดียวกัน
โดยมากเป็นอุปสรรคเล็กๆ น่ารักดี
อย่างที่นำมาคุยสู่กันฟังวันนี้คือ หนังสือถูกตีกลับ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
กระบวนการจัดพิมพ์ ไม่มีปัญหา เพราะผมกับโรงพิมพ์ตะลุมบอนกันตัวต่อตัว
แต่กระบวนการจัดส่งต้องเกี่ยวข้องกับญาติมิตรมากหน้าหลายตา ก็ออกจะยุ่งๆ หน่อย
จัดส่งให้เจ้าภาพผู้บริจาคค่าพิมพ์ ไม่ยุ่งยาก เพราะติดต่อกันได้โดยตรง และเจ้าภาพทั้งหมดกระทำด้วยมหากุศลจิต
ส่วนมากบริจาคค่าพิมพ์เป็นสิบเป็นร้อยเล่ม แต่ขอหนังสือเล่มเดียว หลายๆ รายบริจาคแล้วบริจาคเลย ไม่เคยบอกขออะไรสักคำ
ที่มีอุปสรรคน่ารักเล็กๆ ก็คือญาติมิตรทั่วไปที่ขอกันมา
แทบทั้งหมด-ขอมาทางเฟซบุ๊กนี่แหละ
และก็เป็นที่รู้กันว่า เราชาวเฟซบุ๊กทั้งหลายนิยมใช้นามแฝงกันเป็นปกติ
ขอมาแล้ว ส่งให้แล้ว ได้รับก็พ้นทุกข์ไปที
แต่ถ้าหนังสือถูกตีกลับ-ด้วยเหตุไม่มีผู้รับตามจ่าหน้าหรือด้วยเหตุอะไรก็ตาม-ทีนี้แหละเริ่มยุ่งแล้ว (ดูภาพประกอบที่ ๑-๒-๓)
คือจะต้องมานั่งทบทวนความจำกันว่า ชื่อจริงตามจ่าหน้าซองที่ถูกตีกลับนี้ท่านใช้นามแฝงว่ากระไรในเฟซบุ๊ก ทั้งนี้เพื่อจะได้ตามไปเคาะประตูบ้านได้ถูกบ้าน และขอจ่าหน้าซองที่ถูกต้องชัดเจนกันอีกรอบ
แล้วก็-เชื่อได้เลย ร้อยละร้อยผมจำไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็จะต้องใช้วิธีลงนามแฝงในเฟซบุ๊กกำกับไว้กับนามจริงตามจ่าหน้า เผื่อว่าหนังสือถูกตีกลับจะได้ตามหาตัวได้ง่ายขึ้นมาหน่อย
อันนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระในการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งก็คือ หลายท่านที่ขอหนังสือมา เมื่อบอกให้ส่ง “จ่าหน้าซอง” ท่านก็มีความปรารถนาดีเป็นอันมาก ส่งมาเป็นภาพให้อย่างเรียบร้อย (ดูภาพประกอบ)
แต่ในเวลาดำเนินการจัดส่ง ผมไม่สามารถเอาภาพนั้นไปแปะหน้าซองได้เลย เพราะฉะนั้นผมก็ต้องมานั่งเคาะคีย์บอร์ดทีละตัว ซึ่งก็แปลว่าต้องระวังไม่ให้เลขที่บ้าน เลขหมู่บ้าน เลขซอยอะไรต่างๆ ผิดพลาดไปจากต้นฉบับ มิเช่นนั้นจะเกิดเรื่องส่งไม่ถึงหรือส่งผิดขึ้นมาอีก
อันนี้ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระในการบำเพ็ญบารมีขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
แต่ที่ค่อนข้างสาหัสก็คือบางรายส่งจ่าหน้าซองที่เป็นภาพถ่าย แต่เขียนด้วยลายมือขั้นเทพ (ดูภาพประกอบที่ ๕)
โชคดีที่ผมเคยรับราชการอยู่ในแผนกงานบริการหนังสือภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ คุ้นเคยกับการอ่านหนังสือตัวเขียนและจารึกมานานปี จึงพอจะใช้วิทยายุทธที่ร่ำเรียนมาปฏิบัติการแก้ปัญหาไปได้บ้าง
อันนี้ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระในการบำเพ็ญบารมีขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน – อนุโมทนาสาธุ
—————
ทั้งหลายทั้งปวงที่บรรยายมานี้ ขอเรียนว่าผมมองในแง่ดี มองว่าเป็นเรื่องน่ารัก คนที่คุ้นเคยกันและรักกันเท่านั้นที่ทำได้ ดังนั้นจึงมิได้มีความขุ่นเคืองใจในใจแต่ประการใดเลย
บรรดาญาติมิตรที่มีชื่อปรากฏในภาพที่ผมเอามาลงประกอบกรุณาอย่าได้คิดเป็นอย่างอื่นเป็นอันขาด ผมและทีมงานทุกคนมีความสุขเป็นอย่างยิ่งในการบำเพ็ญธรรมทาน
อุปสรรคในรูปไหนๆ ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเรา เหตุผลมีเป็นประการใด-ก็ดังที่ได้บรรยายมาด้วยประการฉะนั้น
ตอนนี้กำลังตั้งหลักเตรียมเข้าสู่กระบวนการจัดส่ง บาลีวันละคำ เล่ม ๔
ญาติมิตรที่ขอมาแล้วโปรดรอ และถ้าไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป-โปรดทวงหรือย้ำเตือน “จ่าหน้าซอง” เผื่อผมหลงลืมหรือตามไปควานหาคำขอของท่านไม่เจอ ทั้งนี้เพื่อทุกท่านจะได้รับหนังสือโดยทั่วถึงกัน
ทั้งนี้ขอทุกท่านโปรดตั้งตนอยู่บนพื้นฐานแห่งคติธรรมที่ว่า – อุปสรรคไม่มี บารมีไม่แก่ – โดยทั่วกันเช่นกันเทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
๑๒:๕๖