จำศีล (บาลีวันละคำ 2,254)
จำศีล
บาลีว่าอย่างไร
อ่านว่า จำ-สีน
ประกอบด้วยคำว่า จำ + ศีล
(๑) “จำ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “จำ” ไว้ 4 คำ ขอยกมา 3 คำ ดังนี้ –
(1) จำ ๑ : (คำกริยา) กําหนดไว้ในใจ, ระลึกได้, เช่น จําหน้าได้.
(2) จำ ๒ : (คำกริยา) ลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ตรวนล่ามไว้ เช่น จําโซ่ จําตรวน, ลงโทษด้วยวิธีขัง เช่น จําคุก.”
(3) จำ ๓ : (คำกริยา) อาการที่ต้องฝืนใจทํา เช่น จำใจจากแม่เปลื้อง ปลิดอก อรเอย. (นิ. นรินทร์).
“จำ” ในที่นี้มีความหมายตรงกับ “จำ ๒” คือจำกัดการกระทำบางอย่างด้วยศีล หรือใช้ศีลเป็นเครื่องจำกัดการกระทำบางอย่าง เหมือนใช้โซ่ตรวนหรือคุกจำกัดอิสรภาพของผู้กระทำผิดฉะนั้น
(๒) “ศีล”
บาลีเป็น “สีล” (สี-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: สีลฺ + อ = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย”
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ล ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี
: สิ + ล = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้”
นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
“สีล” หมายถึง :
(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)
(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)
“สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.
(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศีล : (คำนาม) ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กําหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม; (ดู ทศพิธราชธรรม และ ราชธรรม); พิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลมหาสนิท. (ส. ศีล ว่า ความประพฤติที่ดี; ป. สีล).”
จำ + ศีล = จำศีล เป็นการเอาคำว่า “จำ” และ “ศีล” มาประสมกันแล้วเกิดเป็นความหมายเฉพาะขึ้นในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จำศีล : (คำกริยา) ถือศีล, รักษาศีล; โดยปริยายหมายถึงการที่สัตว์บางชนิดนอนนิ่งไม่ออกหาอาหารชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น กบจําศีล.”
ตามความหมายนี้ “จำศีล” ตรงกับคำบาลีว่า “อุปวสติ”
“อุปวสติ” (อุ-ปะ-วะ-สะ-ติ) เป็นคำกริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ ( = ผู้หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + อ ปัจจัย + ติ วัตตมานาวิภัตติ
: อุป + วสฺ = อุปวสฺ + อ + ติ = อุปวสติ แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมเข้าไปอยู่” หมายถึง จำศีล, รักษาศีล, สำรวมไตรทวารตามกาลที่กำหนด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปวสติ” ดังนี้ –
(1) to dwell in or at (เข้าไปอยู่หรืออาศัยอยู่)
(2) to live (มีชีวิต)
(3) to observe, keep [a holy day] (ถือปฏิบัติ, รักษา [อุโบสถ])
ขยายความ :
การจำศีลภาวนาเป็นบุญกิริยาที่ศาสนิกชนทุกศาสนานิยมประพฤติกันอยู่ทั่วไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของแต่ละศาสนา
เฉพาะในพระพุทธศาสนา การ “จำศีล” อย่างสูงสุดที่นิยมประพฤติกันคือการออกบวชถือเพศเป็นบรรพชิต เป็นการอุทิศชีวิตปฏิบัติธรรมเต็มรูปแบบ คือยังวันคืนให้ล่วงไปด้วยการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่ ปลอดจากกิจทางโลกมีการทำงานเลี้ยงชีพเป็นต้น
การ “จำศีล” ระดับรองลงมาคือการที่ชาวบ้านรักษาอุโบสถศีลในวันที่กำหนด หลักการคืองดเว้นการเสพสุขปรนเปรอตัวเองชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดก็กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ เมื่อวันที่กำหนดเวียนมาถึงก็เข้า “จำศีล” อีก เป็นกิจวัตรประจำชีวิตเรื่อยไป ถือเป็นการเตรียมชีวิตให้พร้อมเพื่อปฏิบัติธรรมในขั้นสูงๆ ขึ้นต่อไปตามอุปนิสัยปัจจัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์บางชนิดมีเวลาจำศีลเป็นฤดูกาล
: แต่มนุษย์มักทำเวลาทุกวันวารให้เป็นฤดูกาม
#บาลีวันละคำ (2,254)
14-8-61