บาลีวันละคำ

ทำวัตร (บาลีวันละคำ 2,253)

ทำวัตร

งานที่ต้องทำเป็นกิจวัตร

อ่านว่า ทำ-วัด

ประกอบด้วยคำว่า ทำ + วัตร

(๑) “ทำ

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

ทำ : (คำกริยา)

(1) กระทํา, ประกอบขึ้น, ผลิตขึ้น, สร้างขึ้น, ก่อขึ้น, เช่น ทําเก้าอี้ ทําโต๊ะ ทํารองเท้า ทํารัง.

(2) ประกอบการงาน เช่น ทํานา ทําสวน ทําโป๊ะ.

(3) ดําเนินการ, ปฏิบัติงาน, เช่น ทําหน้าที่ประธาน ทําตามคําสั่ง ทําตามกฎหมาย.

(4) แต่งให้งาม เช่น ทําผม ทํานัยน์ตา ทําจมูก.

(5) คิดและปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์ที่กําหนดไว้ เช่น ทําเลข ทําการฝีมือ, ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการนั้น ๆ เช่น ทําวัตร ทําศพ.

(6) แสดง เช่น ทําเบ่ง.

(7) (ภาษาปาก) ศึกษาในระดับปริญญา เช่น ทําปริญญา ทําดอกเตอร์.

ในที่นี้ “ทำ” ใช้ตามความหมายในข้อ (5)

(๒) “วัตร

(ก) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(ข) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม)  กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

ทำ + วัตร = ทำวัตร แปลว่า “ทำกิจที่พึงทำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทำวัตร : (คำกริยา) กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระภิกษุ เช่น ก่อนเข้าพรรษาพระภิกษุต้องไปทำวัตรพระอุปัชฌาย์ที่อยู่ต่างจังหวัด.”

ข้อสังเกต :

ที่คำว่า “วัตร” พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างว่า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ทำวัตรเช้า” “ทำวัตรค่ำ” เป็นลูกคำของคำว่า “ทำ” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ทำวัตรเย็น” ไว้

ขยายความ :

ทำวัตร” ที่คุ้นกันดีคือการไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท ปกติจะทำกันวันละ 2 เวลา คือเช้าเวลาหนึ่ง เรียกว่า “ทำวัตรเช้า” และเย็นอีกเวลาหนึ่ง เรียกว่า “ทำวัตรเย็น” หรือ “ทำวัตรค่ำ” และในสังฆมณฑลไทยเรานี้ตลอดกาลเข้าพรรษา 3 เดือน ท่านนิยมเพิ่มการ “ทำวัตรเช้ามืด” ประมาณตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่งเป็นการเพิ่มพูนธรรมปฏิบัติให้เข็มข้นเป็นพิเศษ

สันนิษฐานว่า มูลเหตุที่เรียกการไหว้พระสวดมนต์ว่า “ทำวัตร” น่าจะสืบเนื่องมาจากในครั้งพุทธกาลพระภิกษุมักไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทำกิจต่างๆ ที่สมควรจะทำถวาย ในเวลาเช้ามีปัดกวาดที่ประทับ ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ในเวลาค่ำมีตามประทีป เป็นต้น อีกทั้งถือเป็นโอกาสที่จะได้ทูลถามปัญหาในข้อธรรมต่างๆ ไปด้วย การปรนนิบัติดังนี้เรียกว่า “ทำวัตร” (เมื่อพระอานนท์รับเป็นพุทธอุปัฏฐากตั้งแต่พรรษาที่ 20 หลังจากตรัสรู้ กิจเหล่านี้ตกเป็นภาระของพระอานนท์ทั้งสิ้น)

กาลต่อมา ภิกษุที่เป็นศิษย์นิยม “ทำวัตร” ทำนองเดียวกันนั้นต่อพระเถระที่เป็นอาจารย์ของตนด้วย และถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

การ “ทำวัตร” ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลก็ดี ในกาลต่อๆ มาก็ดี ย่อมเป็นคราวที่ภิกษุจากที่ต่างๆ มาพบปะกันเหมือนมาชุมนุมกัน เมื่อทำกิจอื่นๆ เสร็จแล้วคงมีเวลาที่จะสนทนาธรรมหรือทบทวนหลักธรรมคำสอนกันไปด้วย สมัยนั้นพระธรรมวินัยดำรงอยู่ด้วยทรงจำ เมื่อจะทบทวนก็ย่อมต้องใช้วิธีกล่าวหรือสวดออกมาพร้อมๆ กัน ที่เรียกว่า “สังคายนา” หรือ “สังคีติ” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “การขับขานขึ้นพร้อมกัน” เป็นการยืนยันว่าข้อธรรมที่ทรงจำกันมานั้นถูกต้องตรงกันเป็นอันดี และนี่เองคือต้นกำเนิดของการ “สวดมนต์” ที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

คำว่า “ไหว้พระสวดมนต์” หรือ “ทำวัตรสวดมนต์” น่าจะมีที่มาดังแสดงมานี้

บท “ทำวัตรสวดมนต์” นั้น ต่อมาได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แต่งเติม เสริมต่อ ตัดตอน และวางลงไว้เป็นแบบแผน เรียกกันว่า “ทำวัตรเช้า” “ทำวัตรเย็น” และ “ทำวัตรพระ” ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระเณรไม่ทำวัตร

: ก็เหมือนคฤหัสถ์ไม่ทำงาน

#บาลีวันละคำ (2,253)

13-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย