บาลีวันละคำ

วัจกุฎี – เวจ (บาลีวันละคำ 2,251)

วัจกุฎีเวจ

คนรุ่นใหม่จะรู้จักฤๅหาไม่

อ่านว่า วัด-จะ-กุ-ดี / เว็ด

(๑) “วัจกุฎี

บาลีเป็น “วจฺจกุฏิ” ประกอบด้วยคำว่า วจฺจ + กุฏิ

(ก) “วจฺจ” (วัด-จะ) รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ป้องกัน) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺ (วรฺ > วจฺ)

: วรฺ + = วรฺจ > วจฺจ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้ามความสุข” (เมื่อมีอาการอันเนื่องมาจากสิ่งนี้ ความสุขจะถูกห้ามไว้ คือจะรู้สึกไม่เป็นสุข) หมายถึง คูถ, อุจจาระ (excrement, faeces)

วจฺจ” ในภาษาไทยสะกดเป็น “วัจ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “วัจจะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัจ-, วัจจะ : (คำนาม) อุจจาระ. (ป.; ส. วรฺจสฺ).”

(ข) “กุฎี

บาลีเป็น “กุฏิ” (กุ-ติ) (-ฏิ ปฏัก อนึ่ง ศัพท์นี้เป็น “กุฏี” ก็มี) รากศัพท์มาจาก กุฏฺ (ธาตุ = ตัด; อยู่อาศัย) + อิ ปัจจัย

: กุฏฺ + อิ = กุฏิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “โรงเรือนที่ตัด” (คือตัดความกังวล เนื่องจากเป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่ต้องบำรุงรักษามาก และไม่มีราคาค่างวด) (2) “โรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุฏิ” ว่า any single-roomed abode, a hut, cabin, cot, shed (ที่อาศัยที่มีห้องเดียว, กระท่อม, เพิง, สิ่งปลูกสร้างเล็กๆ สำหรับอาศัย)

ภาษาไทยเขียนทับศัพท์เป็น “กุฏิ” ออกเสียงว่า กุ-ติ ก็มี (คนเก่าๆ ออกเสียงตามสะดวกปากว่า กะ-ติ ก็มี) ออกเสียงว่า กุด ก็มี เปลี่ยน ปฏักเป็น ชฎา เขียนเป็น “กุฎี” (กุ-ดี) ก็มี แผลงเป็น “กระฎี” ก็มี

ความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย “กุฏิกุฎี” ก็คือ “เรือนหรือตึกสําหรับพระภิกษุสามเณรอยู่”

วจฺจ + กุฏิ = วจฺจกุฏิ แปลตามศัพท์ว่า “กระท่อมเป็นที่ขับถ่ายอุจจาระ” ทับศัพท์ว่า “วัจกุฎี” หมายถึง ที่ถ่ายอุจจาระ (a privy)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัจกุฎี : (คำนาม) ที่ถ่ายอุจจาระ, ส้วม, (ใช้แก่บรรพชิต), เวจกุฎี ก็เรียก. (ป. วจฺจกุฏิ).”

(๒) “เวจ

คำว่า “วัจกุฎี” นั่นเองในภาษาไทยแผลงเป็น “เวจกุฎี” (เว็ด-จะ-กุ-ดี)

แล้วเรียกตัดตามสะดวกปากเหลือเพียง “เวจ” (เว็ด) คนรุ่นเก่ายังพูดกันว่า “ไปเวจ” ในความหมายว่า ไปถ่ายอุจจาระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวจ, เวจ– : (คำนาม) ที่ถ่ายอุจจาระ. (ป. วจฺจ).”

ขยายความ :

วัจกุฎี” หรือ “เวจกุฎี” เป็นคำเรียกที่ถ่ายอุจจาระของบรรพชิตโดยเฉพาะ ส้วมของชาวบ้านทั่วไปไม่เรียก “วัจกุฎี” หรือ “เวจกุฎี

ส่วน “เวจ” ใช้เป็นคำเรียกที่ถ่ายอุจจาระของชาวบ้านทั่วไป ส่วนที่ถ่ายอุจจาระของบรรพชิตซึ่งเรียกว่า “วัจกุฎี” หรือ “เวจกุฎี” นั้นก็ไม่นิยมเรียกตัดสั้นว่า “เวจ” ถ้าจะเรียกสั้นๆ มักเรียกกันว่า “ถาน” ซึ่งน่าจะตัดมาจากคำว่า “วจฺจฏฺฐาน” (วัด-จัด-ถาน)

วจฺจฏฺฐาน” เขียนอย่างไทยเป็น “วัจฐาน” อ่านว่า วัด-จะ-ถาน แล้วกร่อนเหลือเพียง “ฐาน” และเขียนตามเสียงพูดเป็น “ถาน” ในที่สุด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถาน : (คำนาม) ส้วมของพระ.”

คำว่า “ถาน” = ส้วมของพระ เป็นอีกคำหนึ่งที่คนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จัก

พระที่บวชแล้วไม่ท่องบ่นบทสวดมนต์ให้จำได้ เวลาจะสวดมนต์ต้องเอาหนังสือไปแอบกางสวด คนเก่ามีคำตำหนิว่า –

ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ

บอกถึงความล้มเหลวในชีวิตนักบวชของผู้นั้น

อภิปราย :

วัดสมัยก่อน โดยเฉพาะวัดตามชนบท กุฏิสงฆ์ไม่มีห้องน้ำในตัวเหมือนอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ แต่ละวัดจึงต้องมีที่สรงน้ำรวม และมี “ถาน” เป็นส่วนกลาง (ที่สรงน้ำและถานแยกกันอยู่คนละที่)

ถานที่ใช้ร่วมกันเช่นนี้มักสกปรก และยิ่งในสมัยที่ส้วมซึมยังไม่มีแพร่หลาย ความสกปรกก็ยิ่งมีได้ง่ายและมีได้มากขึ้น

เจ้าคณะผู้ปกครองสมัยก่อนเวลาไปตรวจความเรียบร้อยตามวัดต่างๆ ท่านจึงมักแนะนำกันให้ตรวจ 2 แห่ง คือโบสถ์แห่งหนึ่ง และถานอีกแห่งหนึ่ง โดยมีเหตุผลว่า โบสถ์เป็นสถานที่สูงสุด ถานเป็นสถานที่ต่ำสุด และทั้ง 2 แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญและจำเป็นที่สุดภายในวัด

ถ้าสถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้สะอาดเรียบร้อย ก็อาจอนุมานได้ว่าการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ของวัดนั้นก็ควรจะดำเนินไปในทางที่เจริญดีงามด้วยเช่นกัน

…………..

พระสมัยก่อนเมื่อลาสิกขาแล้วมีคตินิยมยับยั้งอยู่ภายในวัดและสมาทานศีลเคร่งครัดเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันจึงจะออกจากวัดกลับบ้าน

ในระหว่างเป็น “ทิด” อยู่วัดก็จะถือโอกาสทำความสะอาดถานเป็นการใหญ่ไปด้วย โดยถือคติว่า ตลอดเวลาที่บวชอยู่ได้ถ่ายหนักถ่ายเบาทำความสกปรกไว้เป็นอันมาก เมื่อจะจากวัดไปเป็นคฤหัสถ์ดังเดิมจึงควรชำระล้างถานให้สะอาดเสมือนเป็นการไถ่โทษ ชีวิตฆราวาสจะได้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทินติดตัวไปจากวัด

ปัจจุบันคติดังกล่าวนี้น่าจะสูญไปแล้ว เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เราปล่อยให้สูญไปกับกาลเวลา

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โบสถ์สะอ้าน ถานสะอาด

: พระเณรฉลาด รักษาพระธรรมวินัย

เป็นวัดในฝันอันห่างไกลของชาวพุทธปัจจุบัน

#บาลีวันละคำ (2,251)

11-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย