บาลีวันละคำ

เทพธรรมบาล (บาลีวันละคำ 4,398)

เทพธรรมบาล

อาศัยชื่อเป็นสะพานไปเรียนธรรม

อ่านว่า เทบ-ทำ-มะ-บาน

ประกอบด้วยคำว่า เทพ + ธรรม + บาล

ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าไปทัศนศึกษาในโรงเจแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ได้เห็นป้ายแห่งหนึ่งมีข้อความดังนี้ –

…………..

        ข้าแต่พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ ณ โรงเจแห่งนี้ ข้าพเจ้า นาย…….นาง…….และครอบครัว มากราบขอพร โปรดประทานพรให้ข้าพเจ้าและครอบครัว จง……………………………

        ขอให้คำขอพรของข้าพเจ้าจงสัมฤทธิ์ผลด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำว่า “เทพธรรมบาล” ก็สงสัยว่าเทพธรรมบาลคือใคร เป็นเทพในคติของศาสนาอะไร ขณะที่เขียนนี้ยังไม่มีอุตสาหะที่จะสืบค้น แต่เห็นว่า คำว่า “เทพธรรมบาล” น่าจะนำมาแนะนำสู่กันฟังตามขอบเขตของบาลีวันละคำได้

(๑) “เทพ” 

บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” (3) “ที่เป็นที่เพลิดเพลินแห่งพวกเทวดา” (4) “สิ่งเป็นเหตุเพลิดเพลินแห่งชาวโลก

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า 

เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง เป็น ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น – 

วร > พร 

วิวิธ > พิพิธ 

: เทว > เทพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) เทพ ๑, เทพ– : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).

(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.

(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ 

๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร 

๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

…………..

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมทุกข้อ 

(๓) “บาล” 

บาลีเป็น “ปาล” อ่านว่า ปา-ละ รากศัพท์มาจาก ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + (อะ) ปัจจัย

: ปาลฺ + = ปาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” หมายถึง ยาม, ผู้รักษา, ผู้คุ้มครอง, ผู้ป้องกัน (a guard, keeper, guardian, protector)

ปาล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บาล” (บาน) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาล : (คำกริยา) เลี้ยง, รักษา, คุ้มครอง, ปกครอง, เช่น บาลเมือง, โดยมากใช้เป็นคำหลังสมาส เช่น โลกบาล รัฐบาล นครบาล โคบาล นิรยบาล. (ป., ส. ปาล).”

การประสมคำ :

ธรรม + บาล = ธรรมบาล แปลว่า “ผู้รักษาธรรม” 

เทพ + ธรรมบาล = เทพธรรมบาล แปลว่า “เทวดาผู้รักษาธรรม” 

ขยายความ :

ในคัมภีร์ชาดก มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อ มหาธรรมปาลชาดก อยู่ในหมวดทสกนิบาต อรรถกถาชาดกขยายความคำว่า “ธรรมบาล” ในชาดกนี้สรุปได้ว่า –

ในแคว้นกาสีมีหมู่บ้านชื่อ “ธรรมบาลคาม” ที่ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นที่อยู่ของครอบครัวพราหมณ์ชื่อ “ธรรมบาล

พราหมณ์ที่ได้ชื่อว่า “ธรรมบาล” เพราะรักษาธรรม และธรรมที่รักษาก็คือกุศลกรรมบถ 10 

คนในครอบครัวนี้แม้แต่คนรับใช้ ล้วนแต่บำเพ็ญกุศล คือ ให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถกรรมกันถ้วนหน้า

ขอยก กุศลกรรมบถ 10 จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [319] มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นอุปการะแก่การศึกษาพระธรรม ดังนี้ –

…………..

[319] กุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ — Kusala-kammapatha: wholesome course of action) ว่าโดยหัวข้อย่อ ดังนี้

ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — Kāyakamma: bodily action)

1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากปลงชีวิต — Pāṇātipātā veramaṇī: abstention from killing)

2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย — Adinnādānā ~: abstention from taking what is not given)

3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม — Kāmesumicchācārā ~: abstention from sexual misconduct)

ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — Vacīkamma: verbal action)

4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ — Musāvādā ~: abstention from false speech)

5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด — Pisuṇāya vācāya ~: abstention from tale-bearing)

6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ — Pharusāya vācāya ~: abstention from harsh speech)

7. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ — Samphappalāpā ~: abstention from vain talk or gossip)

ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — Manokamma: mental action)

8. อนภิชฺฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Anabhijjhā: non-covetousness)

9. อพฺยาปาท (ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น — Abyāpāda: non-illwill)

10. สมฺมาทิฏฺฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — Sammādiṭṭhi: right view)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักเทพแต่ชื่อ

: ก็ยังใช้เป็นสื่อให้รู้จักธรรมได้

#บาลีวันละคำ (4,398)

27-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *