นาถปรมราชินี (บาลีวันละคำ 2,252)
นาถปรมราชินี
ราชบัณฑิตยสภาออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 คำถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษาบาลีที่แต่เดิมใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” หากประสงค์จะถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษาบาลี ควรใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี”
คำที่แปลกจากเดิมคือ “นาถปรมราชินี”
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์บอกคำอ่านกำกับไว้ด้วยว่า นา-ถะ-ปะ-ระ-มะ-รา-ชิ-นี
“นาถปรมราชินี” แยกศัพท์เป็น นาถ + ปรม + ราชินี
(๑) “นาถ”
บาลีอ่านว่า นา-ถะ รากศัพท์มาจาก นาถฺ (ธาตุ = ประกอบ, ขอร้อง, ปรารถนา, เป็นใหญ่, ทำให้ร้อน) + อ ปัจจัย
: นาถฺ + อ = นาถ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้กอปรประโยชน์แก่ผู้อื่น”
(2) “ผู้ขอร้องคนอื่นให้บำเพ็ญประโยชน์นั้นๆ”
(3) “ผู้ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ควรช่วยเหลือ”
(4) “ผู้เป็นใหญ่กว่าผู้ที่ควรช่วยเหลือ” (ผู้ช่วยเหลือย่อมอยู่เหนือผู้รับการช่วยเหลือ)
(5) “ผู้ยังกิเลสให้ร้อน” (เมื่อจะช่วยเหลือคนอื่น ความตระหนี่ ความเกียจคร้านเป็นต้นจะถูกแผดเผาจนทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้)
“นาถ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ที่พึ่ง, ผู้ปกป้อง, การช่วยเหลือ (protector, refuge, help)
(๒) “ปรม”
บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรม + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปร + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้”
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”
(๓) “ราชินี”
คำเดิมคือ “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ ถ้าเป็นปุงลิงค์เป็น “ราชา”
ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ลง “อินี” ปัจจัยเป็น “ราชินี”
: ราช + อินี = ราชินี แปลตามศัพท์ว่า “หญิงที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน”
ในภาษาไทย “ราชินี” หมายถึงพระมเหสี = ชายาของพระราชา
การประสมคำ :
(1) ปรม + ราชินี = ปรมราชินี แปลว่า “พระราชินีผู้สูงสุด” เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า “พระบรมราชินี”
(2) นาถ + ปรมราชินี = นาถปรมราชินี แปลว่า “พระบรมราชินีผู้เป็นที่พึ่ง” ตรงกับที่คำไทยใช้ว่า “พระบรมราชินีนาถ”
อ่านใจผู้คิดคำ :
คำว่า “นาถปรมราชินี” มีลักษณะเป็นวิสามานยนามหรืออสาธารณนาม (proper name) จะประกอบคำขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร อ่านอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ต้องเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือของผู้ตั้ง และควรเป็นโอกาสของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งที่จะอธิบายชี้แจง
ในเมื่อยังไม่ปรากฏคำอธิบายชี้แจงใดๆ ก็ควรเป็นสิทธิและหน้าที่ของสาธารณชนจะพึงช่วยกันทำความเข้าใจตามสติปัญญา
ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตแสดงความเห็นดังนี้
๑ คำเดิมที่ใช้กันมาคือ “มหาราชินี” คำที่เปลี่ยนใหม่คือ “นาถปรมราชินี” แสดงว่าต้องการยืนคำว่า “-ราชินี” ไว้
๒ ในภาษาไทยไม่ได้ใช้ “ราชินี” โดดๆ แต่ใช้เป็น “บรมราชินี” ซึ่งสามารถแปลงกลับเป็นบาลีได้ตรงตัว จึงเป็น “ปรมราชินี”
๓ แต่ในภาษาไทยนั่นเองก็ไม่ได้ใช้ว่า “บรมราชินี” ห้วนๆ แต่ใช้ว่า “บรมราชินีนาถ” ตามพระอิสริยยศ
“บรมราชินีนาถ” ก็เป็นคำบาลีทุกคำ แต่เรียงคำแบบไทยคือคำขยายอยู่หลัง ซึ่งภาษาบาลีไม่นิยมทำเช่นนั้น คือจะเป็น “ปรมราชินีนาถ” (ปะ-ระ-มะ-รา-ชิ-นี-นา-ถะ) ไม่เหมาะ (ความจริง ภาษาบาลีเอาคำขยายไว้หลังก็มี ดังที่ศัพท์วิชาการไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนุตตรบท = มีบทวิเสสนะอยู่หลัง”)
๔ เพราะฉะนั้น จึงเอาคำว่า “นาถ” ไปไว้ข้างหน้าตามหลักนิยมในภาษาบาลี สำเร็จรูปคำเป็น “นาถปรมราชินี” ดังที่ปรากฏ
“ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี” แปลความเท่าศัพท์และตามเจตนาว่า “พระบรมราชินีนาถจงทรงพระเจริญ”
คำว่า “นาถปรมราชินี” นี้ ถ้าเอาเหตุแวดล้อมปัจจุบันมาเป็นองค์ประกอบร่วม ก็ไม่น่าจะมีปัญหา คือเข้าใจตรงกันว่าถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
แต่ถ้าพูดแต่เพียงว่า “พระบรมราชินีนาถ” เท่าคำบาลี “นาถปรมราชินี” ก็อาจจะมีปัญหาว่าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลไหน? เนื่องจากยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบรมราชินีนาถ” แต่เป็น “พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” หรือที่ขานพระนามอย่างสังเขปว่า“พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9”
พิจารณาในแง่นี้ คำว่า “นาถปรมราชินี – พระบรมราชินีนาถ” ก็ขาดคำบ่งชี้ที่สำคัญ
…………..
มีผู้ถามผู้เขียนบาลีวันละคำว่า หากเราไม่อยากใช้คำว่า “นาถปรมราชินี” จะใช้คำไหนแทนได้บ้าง
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอตอบว่า ถ้าให้เลือก ผู้เขียนบาลีวันละคำพอใจที่จะใช้ว่า
“ทีฆายุกา โหตุ นวมินฺทมหาราชินี”
คือยังคงคำว่า “มหาราชินี” ไว้เหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มคำว่า “นวมินฺท” (นะ-วะ-มิน-ทะ) ที่หมายถึง “รัชกาลที่ 9” เข้าข้างหน้าเป็น “นวมินฺทมหาราชินี” (นะ-วะ-มิน-ทะ-มะ-หา-รา-ชิ-นี)
แปลเท่าศัพท์ได้ความตรงตามที่เข้าใจกันว่า “พระมหาราชินีในรัชกาลที่ 9 จงทรงพระเจริญ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยราชการทั้งปวง เมื่อจะใช้คำถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษาบาลีดังที่เคยนิยมกันมา ก็สมควรแท้ที่จะใช้ตามที่ทางราชการประกาศมา
…………..
ทีฆายุกา โหตุ นวมินฺทมหาราชินี
พระมหาราชินีในรัชกาลที่ 9 จงทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
ผู้เขียนบาลีวันละคำ
12 สิงหาคม 2561
#บาลีวันละคำ (2,252)
12-8-61