ธารณามัย (บาลีวันละคำ 2,260)
ธารณามัย
บุญพิเศษที่น่าทำ
อ่านว่า ทา-ระ-นา-ไม
ประกอบด้วยคำว่า ธารณา + มัย
(๑) “ธารณา”
บาลีอ่านว่า ทา-ระ-นา รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธารฺ)
: ธรฺ + ยุ > อน = ธรน > ธารน > ธารณ + อา = ธารณา แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้”
ศัพท์ว่า “ธารณา” นี้ที่ไม่ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ คงเป็น “ธารณ” ก็มี
“ธารณ” (นปุงสกลิงค์) “ธารณา” (อิตถีลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การสวมใส่ (wearing)
(2) การบำรุงรักษา, การค้ำจุนหรือสนับสนุน, การรักษาไว้ (maintaining, sustaining, keeping up)
(3) การจำใส่ใจ, การจำหรือระลึกได้ (bearing in mind, remembrance)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธารณา : (คำแบบ) (คำนาม) การทรงไว้. (ส.).”
(๒) “มัย”
บาลีเป็น “มย” (มะ-ยะ) เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ทำด้วย, ประกอบด้วย (made of, consisting of) ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้ต่อท้ายคำอื่นเสมอ
นักไวยากรณ์อธิบายว่า “มย” เป็นรูปศัพท์ที่แปลงมาจากคำที่แสดงความหมายต่างๆ หลายคำ ในที่นี้ขอยกมาเป็นตัวอย่างเพียง 3 คำ คือ
(1) –มย แปลงมาจากคำว่า “อมฺห” (อำ-หะ หรือ อำ-หฺมะ) หมายถึง “ข้าพเจ้าเอง” (myself)
(2) –มย แปลงมาจากคำว่า “ปญฺญตฺติ” (ปัน-ยัด-ติ) หมายถึง “บทบัญญัติ” (regulation)
(3) –มย แปลงมาจากคำว่า “นิพฺพตฺติ” (นิบ-พัด-ติ) หมายถึง “บ่อเกิด” (origin) หรือ “เกิดขึ้นจาก” (arising from, produced by)
ในที่นี้ “มย” ใช้ในความหมายตามนัยแห่งข้อ (3)
ธารณา + มย = ธารณามย > ธารณามัย แปลว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทรงจำไว้”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธารณามัย : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ซึ่งสําเร็จด้วยความทรงจํา. (ส.).”
ขยายความ :
“ธารณามัย” เป็นชื่อของบุญพิเศษชนิดหนึ่ง มีความหมายว่า “บุญอันเกิดจากการทรงจำพระธรรม”
กระบวนการสืบต่อถ่ายทอดพระศาสนา อนุโลมตามนัยที่แสดงไว้ในพระคาถาอุณหิสวิชัยมีดังนี้ –
๑ ลิขิตํ การจดจารึกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เช่น การสรางพระคัมภีร์ที่โบราณนิยมทำกันมาแม้จนถึงทุกวันนี้
๒ จินฺติตํ การตรึกตรองขบคิดพิจารณาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓ ปูชํ การบูชา หมายถึงลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมเองหรือส่งเสริมการปฏิบัติด้วยวิธีต่างๆ
๔ ธารณํ การท่องบ่น ทรงจำ ทบทวนไว้ให้คล่องปากขึ้นใจ ว่าปากเปล่าได้
๕ วาจนํ การสั่งสอนบอกกล่าวให้ผู้อื่นฟัง
๖ ปเรสํ เทสนํ สุตฺวา ฟังที่ผู้อื่นสั่งสอนชี้แจงแสดงให้รู้ให้เข้าใจ คือศึกษาเรียนรู้จากผู้อื่นสืบต่อไปอีก
ต่อจากนี้ก็ไปเข้าวงรอบเดิม นั่นคือเมื่อมีความรู้แม่นยำดีแล้วก็จดจารึกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน สืบไป
จะเห็นได้ว่า การท่องได้จำได้ พูดปากเปล่าได้ (ไม่ใช่กางหนังสืออ่าน) ท่านแยกย่อยออกมาเป็นบุญพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าบุญ “ธารณามัย” พุทธบริษัทจึงนิยมท่องบ่นทรงจำพระสูตรต่างๆ ตามสติปัญญาแห่งตนๆ แล้วสวดสาธยายจากความทรงจำ นับถือกันว่าเป็นการสืบศาสนาวิธีหนึ่งมาแต่โบราณ ซึ่งได้คลี่คลายขยายตัวปรับรูปแบบเป็นกิจวัตรที่เรียกกันว่า “สวดมนต์” ดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
มีเงินไม่ได้ใช้ให้เขากู้
มีคู่อยู่ต่างถิ่นถวิลหา
มีมนตร์ขลังจำไม่ได้อยู่ในตำรา
ถึงเวลาต้องการใช้เหมือนไม่มี
#บาลีวันละคำ (2,260)
20-8-61