บาลีวันละคำ

อังสะ (บาลีวันละคำ 2,259)

อังสะ

คืออะไรใครไม่รู้ชูมือขึ้น

อ่านว่า อัง-สะ

อังสะ”บาลีเป็น “อํส” (อัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(๑) อนฺ (ธาตุ = มีชีวิตอยู่) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อนฺ > + อํ = อํ)

: อนฺ > + อํ = อํ + = อํส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดำรงชีวิต

(๒) อมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อมฺ > + อํ = อํ)

: อมฺ > + อํ = อํ + = อํส แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่เป็นไป” (2) “ส่วนที่เป็นไปตามปกติ

อํส” ในภาษาบาลีหมายถึง –

(1) บ่า (the shoulder)

(2) ส่วน, ข้าง (a part, side)

(3) จุด, มุม, ขอบ (point, corner, edge)

ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “อํศ” (- ศ ศาลา) และ “อํส” (- ส เสือ) มีความหมายอย่างเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อํศ : (สกรรมกริยา; a transitive verb.) แยกหรือแบ่ง; to separate or divide;- (คำนาม) หุ้นส่วน, ภาค, บ่า; a share, a part, a shoulder.”

อํศอํส ในบาลีสันสกฤตเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “องศา” “อังสะ” “อังสา

องศา” คือ หน่วยในการวัดขนาดของมุม, หน่วยในการวัดอุณหภูมิ, ส่วนหนึ่งของจักรราศี

อังสา” ใช้ตามความหมายเดิม คือ บ่า, ไหล่

ส่วน “อังสะ” คือคำที่กำลังกล่าวถึงในที่นี้

คำว่า “อังสะ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อังส-, อังสะ : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ห้อยเฉวียงบ่าว่า ผ้าอังสะ; ส่วน, ภาค; ส่วนของมุม. (ป. อํส).”

ความหมายที่ว่า ส่วน, ภาค; ส่วนของมุม เป็นความหมายเดิมในบาลีสันสกฤต

ความหมายที่ว่า “เรียกผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ห้อยเฉวียงบ่าว่า ผ้าอังสะ” เป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย

ที่เรียกผ้าชนิดนี้ว่า “อังสะ” ก็เนื่องด้วยเป็นผ้าที่ใช้เฉวียงบ่า จึงเรียกตามอวัยวะส่วนนั้น (อังสะ = บ่า)

อภิปราย :

ในบาลีมีคำว่า “เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กริตฺวา” แปลว่า “ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า” ผ้า “อุตราสงค์” คือผ้าห่มที่เรามักเรียกกันว่าจีวร

ถ้าดูตามนี้ ผ้าที่ “ห้อยเฉวียงบ่า” ควรเป็นจีวรผืนใหญ่ ไม่ใช่อังสะผืนเล็กประมาณผ้าขาวม้าอย่างที่เห็นกันอยู่

ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า ผ้าอังสะน่าจะคลี่คลายมาจากผ้าอาบน้ำฝนนั่นเอง กล่าวคือผ้าอาบน้ำฝนมีประโยชน์ใช้สอยเพื่อผลัดสรงน้ำ แต่ในเวลาอื่นน่าจะใช้เพื่อการอย่างอื่นได้ด้วยทำนองเดียวกับผ้าขาวม้าของเรา และพระอาจชอบถือติดมืออยู่เสมอ เมื่อมีกิจอันสมควรก็ใช้ได้ทันที เมื่อไม่ใช้ก็อาจพาดบ่าไว้เฉยๆ ลางทีไม่ได้ครองจีวร ตัวเปลือยๆ ก็ใช้ผ้าอาบน้ำฝนคลุมตัวไว้แบบลำลอง ลักษณะที่คลุมก็คงนิยมเฉวียงบ่าตามที่เคยใช้จีวร

ในที่สุดผ้าอาบน้ำฝนนั่นเองกลายเป็นผ้าห้อยเฉวียงบ่า แล้วเลยเรียกว่าผ้า “อังสะ” ทำหน้าที่เหมือนเสื้อผ้าลำลองหรือชุดชั้นในของชาวบ้านไปโดยปริยาย

โปรดทราบว่า “อังสะ” ไม่ได้อยู่ในรายการเครื่องอัฐบริขาร แต่เป็นความนิยมเวลาจัดเครื่องบวชเป็นต้องมี “อังสะ” สอดรวมอยู่กับผ้าไตรด้วย และเวลาบวชนาคเมื่อจะเปลี่ยนมาครองจีวรต้องเริ่มด้วยให้สวมอังสะก่อนเสมอเหมือนเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีอังสะก็ยังเป็นพระอยู่ได้

: แต่ถ้าไม่มีธรรมวินัยจะดูตรงไหนว่าเป็นพระ

—————

หมายเหตุ: ภาพประกอบต้องการเพียงให้เห็นลักษณะของ “อังสะ” เมื่อสวมใส่แล้วเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (2,259)

19-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย