บาลีวันละคำ

สังเกตการณ์ (บาลีวันละคำ 3,457)

สังเกตการณ์

รู้ทันมัน แต่อย่าเป็นกับมัน

อ่านว่า สัง-เกด-กาน

ประกอบด้วยคำว่า สังเกต + การณ์

(๑) “สังเกต” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺเกต” อ่านว่า สัง-เก-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + กิ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง อิ ที่ กิ เป็น เอ (กิ > เก)

: สํ > สงฺ + กิ = สงฺกิ > สงฺเก + = สงฺเกต

(2) สํ + กิต (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง อิ ที่ กิ-(ตฺ) เป็น เอ (กิตฺ > เกต)

: สํ > สงฺ + กิต = สงฺกิต + = สงฺกิต > สงฺเกต

สงฺเกต” แปลตามศัพท์ว่า “รู้ร่วมกัน” “รู้พร้อมกัน” หมายถึง การกำหนด, ความตกลง, การนัดหมาย, สถานที่นัดหมาย, ที่นัดพบ (intimation, agreement, engagement, appointed place, rendezvous)

โปรดสังเกตว่า คำเดิมหรือรากศัพท์ไม่ได้มีสระ อุ ที่ แต่ประการใด จึงเป็นคำตอบที่ว่า “สังเกต” ทำไมไม่มีสระ อุ

บาลี “สงฺเกต” ในภาษาไทยเขียนว่า “สังเกต” (ไม่มีสระ อุ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเกต : (คำกริยา) กําหนดไว้, หมายไว้, เช่น ทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกต; ตั้งใจดู, จับตาดู, เช่น ไม่ได้สังเกตว่าวันนี้เขาแต่งตัวสีอะไร สังเกตกิริยาท่าทางเขาไว้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย. (ป., ส.).”

ความจริง “เกตุ” ในภาษาบาลีก็มี แต่ไม่มี “สงฺเกตุ” มีแต่ “เกตุ” เดี่ยวๆ 

เกตุ” บาลีอ่านว่า เก-ตุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ข้างบน” (หมายถึงผ้าที่ถูกผูกไว้บนที่สูง) และ “สิ่งที่เป็นเครื่องหมายให้รู้น้ำ” (หมายถึงผ้าที่ผูกไว้ที่บ่อน้ำ บอกให้รู้ว่าตรงนั้นมีน้ำ) 

เกตุ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รัศมี, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง (ray, beam of light, splendour, effulgence) 

(2) ธง, ธงชัย, เครื่องหมาย, อาจเป็นเครื่องแสดงความรุ่งโรจน์ (flag, banner, sign, perhaps as token of splendour) 

เป็นอันว่า “เกตุ” (เก-ตุ) กับ “สังเกต” (-เก-ตะ) เป็นคนละคำกัน

จำไว้ให้แม่น :

สังเกต” มี 

สังเกตุ” ไม่มี 

(๒) “การณ์

เขียนแบบบาลีเป็น “การณ” อ่านว่า กา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ > การณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล” 

การณ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือหมายถึง การกระทำ, วิธีทำ, การปฏิบัติ, การลงโทษ, การฆ่า, การงาน, หน้าที่, เหตุผล, เหตุ, ความจำเป็น (a deed, action, performance, an act imposed or inflicted upon somebody by a higher authority; punishment, killing, task, duty obligation, acting, action as material cause, intellectual cause, reason, necessity, needs)

บาลี “การณ” สันสกฤตก็เป็น “การณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “การณ” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

การณ : (คำนาม) เหตุ, มูล; ในตรรกศาสตร์, การณ์มีอยู่สามอย่าง; สมวายิการณ์, เหตุตรง; อสมวายิการณ์, เหตุอ้อม (หรือไม่ตรง); นิมิตตการณ์, เหตุบังเอินเปน; กริยา, การณ์; ฆาตกรรม, การเบียดเบียน; กรรมเมนทรีย์; เหตุหรืออุปกรณ์; มูล, มูลพัสดุ; เทพดา (อันเปนเหตุไกลหรือใกล้แห่งการสร้าง); พวกเสมียน; เครื่องดนตรีอย่างหนึ่ง; เพลงอย่างหนึ่ง; ทุกข์, เวทนา; การผลักลงนรก; โชฺยติษกาล; cause, motive, origin, principle; in logic, cause is of three kinds; Samavāyi kāraṇa, a direct cause; Asamavāyi kāraṇa, an indirect cause; Nimitta kāraṇa, an incidental cause; action, agency; killing, injuring; an organ of sense; an instrument or means; an element, elementary matter; a deity (as the remote or proximate cause of creation); a number of scribes; a kind of musical instrument; a sort of song; pain, agony; casting into hell; an astronomical period.”

บาลี “การณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “การณ์” (กาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

การณ์ : (คำนาม) เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์. (ป., ส.).”

สังเกต + การณ์ = สังเกตการณ์ (สัง-เกด-กาน) เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “เฝ้าดูเหตุการณ์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเกตการณ์ : (คำกริยา) เฝ้าดูหรือศึกษาเหตุการณ์หรือเรื่องราวพอรู้เรื่อง. (คำนาม) เรียกผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงว่า ผู้สังเกตการณ์.”

…………..

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการ “เสพ” ข่าวสารทุกวันนี้ก็คือ แยกไม่ได้ว่าอะไรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และอะไรเป็นความเห็นของคนที่เอาเรื่องมาบอกเรา

…………..

ดูก่อนภราดา!

นักข่าวควรเป็นนักเกตการณ์ที่ดี

คือทำหน้าที่เพียงบอกว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น

ไม่ใส่ความคิดเห็นลงไปในข่าว

กสฺมา เพราะเหตุไร?

: เพราะถ้าใส่ความชอบความชังเข้าไป

: ย่อมเห็นอะไรๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง

#บาลีวันละคำ (3,457)

29-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *