ติปิฏกาลัย – หอไตร (บาลีวันละคำ 2,268)
ติปิฏกาลัย – หอไตร
หนึ่งใน “ห้าหอ” ที่วัดต้องมี
อ่านว่า ติ-ปิ-ตะ-กา-ไล
ประกอบด้วยคำว่า ติปิฏก + อาลัย
(๑) “ติปิฏก”
เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า ติ-ปิ-ตะ-กะ แยกศัพท์เป็น ติ (คำสังขยา = จำนวนสาม) + ปิฏก
(ก) “ปิฏก” รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = รวบรวม; เบียดเบียน; ส่งเสียง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ปิฏฺ + ณฺวุ > อก = ปิฏก แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ภาชนะที่รวมข้าวสารเป็นต้นไว้”
(2) “ภาชนะอันเขาเบียดเบียน”
(3) “หมู่ธรรมเป็นที่อันเขารวบรวมเนื้อความนั้นๆ ไว้”
(4) “หมู่ธรรมอันเขาส่งเสียง” (คือถูกนำออกมาท่องบ่น)
“ปิฏก” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) ตะกร้า, กระจาด, กระบุง (a basket)
(2) (นปุงสกลิงค์) ตำรา, หมวดคำสอนในพระพุทธศาสนา (a scripture, any of the three main divisions of the Pāli Canon)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปิฎก : (คำนาม) ตะกร้า; หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา. (ป., ส. ปิฏก).”
(ข) ติ + ปิฏก = ติปิฏก แปลว่า “หมวดคำสอนสามหมวด”
“ติปิฏก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ไตรปิฎก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ตรีปิฎก ก็ว่า.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –
“ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ใช้ว่า ตรีปิฎก ก็ได้.”
ดูเพิ่มเติม: “ไตรปิฎก” บาลีวันละคำ (1,750) 20-3-60
ในที่นี้ “ติปิฏก” หมายถึงตัวคัมภีร์ หรือ book ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือวัสดุอื่นใดที่บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
(๒) “อาลัย”
บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย
: อา + ลิ > ลย = อาลย + อ = อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”
นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”
ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, บ้านเรือน (abode settling place, house) หรือแหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –
ชลาลัย = “แหล่งรวมแห่งน้ำ” คือแม่น้ำ หรือทะเล
เทวาลัย = ที่อยู่ของเทพยดา
หิมาลัย = “แหล่งรวมแห่งหิมะ” คือภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี
ติปิฏก + อาลย = ติปิฏกาลย (ติ-ปิ-ตะ-กา-ละ-ยะ) > ติปิฏกาลัย แปลว่า “แหล่งรวมของคัมภีร์พระไตรปิฎก” หมายถึง สถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก
ขยายความ :
สมัยพุทธกาล การศึกษาพระธรรมวินัยใช้วิธีทรงจำคำสอนไว้ด้วยใจ ยังไม่มีระบบบันทึกคำสอนเป็นเล่มคัมภีร์
จนเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปตั้งมั่นอยู่ในลังกาทวีป พระเถระผู้บริหารการพระศาสนาคำนึงว่า สืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา บมิอาจจะทรงจำคำสอนไว้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนกาลก่อน ควรจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นลายลักษณ์อักษร จึงประชุมกันจารพุทธพจน์ลงในใบลานเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 5 (พ.ศ.450 บางมติว่า พ.ศ.436) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเล่มคัมภีร์ที่เรียกรู้กันว่า “พระไตรปิฎก” จึงมีมาตั้งแต่บัดนั้น
ตั้งแต่นั้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงถิ่นไหน พระไตรปิฎกก็มีไปถึงถิ่นนั้น และมีผู้มีจิตศรัทธานิยมคัดลอกพระไตรปิฎกหรือที่เรียกกันในภาษาไทยสมัยเก่าว่า “สร้าง” แล้วนำไปถวายภิกษุหรือถวายไว้ประจำวัดเพื่อใช้ศึกษาพระธรรมวินัย นับถือกันว่าเป็นของสำคัญเสมือนเป็นองค์พระบรมศาสดา และถือว่าเป็นวิธีสืบอายุพระศาสนาที่สำคัญยิ่ง
ด้วยเหตุว่าเป็นของสำคัญเช่นนี้จึงต้องมีสถานที่เก็บรักษาโดยเฉพาะโดยนิยมสร้างขึ้นเป็นเอกเทศต่างหากจากเสนาสนะอื่นๆ ในภาษาไทยเรียกสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกว่า “หอพระไตรปิฎก” และเรียกตัดลัดลงไปเป็น “หอไตร”
เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว “หอไตร” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม เป็นที่สำหรับให้ภิกษุค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัยประจำอารามนั้นๆ การสร้าง “หอไตร” ขึ้นในวัดได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน
และ “หอไตร” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ
(1) หอฉัน
(2) หอสวดมนต์
(3) หอระฆัง
(4) หอกลอง
(5) หอไตร
คำว่า “หอไตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“หอไตร : (คำนาม) หอสําหรับเก็บพระไตรปิฎก.”
…………..
หมายเหตุ: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต คำว่า “หอไตร” ใช้คำบาลี 3 คำ คือ –
ติปิฏกาลย (ติ-ปิ-ตะ-กา-ละ-ยะ) = “สถานที่เก็บพระไตรปิฎก”
โปตฺถกาลย (โปด-ตะ-กา-ละ-ยะ) = “สถานที่เก็บพระคัมภีร์”
คนฺถาลย (คัน-ถา-ละ-ยะ) = “สถานที่เก็บพระคัมภีร์”
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ทำวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัย
ถึงจะมีหอไตรก็เหมือนไม่มี
: ถ้าทำวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัย
วัดทั่วแผ่นดินไทยก็เป็นหอไตรทันที
#บาลีวันละคำ (2,268)
28-8-61