บาลีวันละคำ

อุปัฏฐานศาลา – หอสวดมนต์ (บาลีวันละคำ 2,267)

อุปัฏฐานศาลา – หอสวดมนต์

หนึ่งใน “ห้าหอ” ที่วัดต้องมี

อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-นะ-สา-ลา ก็ได้ อุบ-ปัด-ถา-นะ-สา-ลา ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า อุปัฏฐาน + ศาลา

(๑) “อุปัฏฐาน

บาลีเป็น “อุปฏฺฐาน” (อุ-ปัด-ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน ฏฺ, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อุป + ฏฺ + ฐา = อุปฏฺฐา + ยุ > อน = อุปฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปยืนอยู่” “ที่เป็นที่เข้าไปยืน

อุปฏฺฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การสนใจ, การรับใช้, การดูแล, การอุปัฏฐาก, การเอาใจใส่, การปรนนิบัติ (attendance, waiting on, looking after, service, care, ministering)

(2) การบูชา, การบวงสรวงเทวดา (worship, divine service)

(3) ห้องเป็นที่บำรุง (a state room)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปัฏฐานะ : (คำนาม) การบํารุง, การรับใช้. (ป.).”

(๒) “ศาลา

เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา

สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

อุปฏฺฐาน + สาลา = อุปฏฺฐานสาลา > อุปัฏฐานศาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาเป็นที่เข้าไปยืน” หมายถึง สถานที่ซึ่งผู้ที่เคารพนับถือไปชุมนุมกันเพื่อปรนนิบัติบำรุงบุคคลหรือสิ่งที่เคารพนับถือ

ขยายความ :

ชั้นเดิมนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในที่ใด ภิกษุทั้งหลายจะพากันไปเฝ้า ณ ที่นั้น เพื่อดูแลความเรียบร้อย เช่นทำความสะอาดสถานที่ ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ถ้าเป็นกลางคืนก็ตามประทีปเป็นต้น เรียกการทำเช่นนั้นว่า “ทำวัตร” แล้วถือเป็นโอกาสทูลถามข้อธรรมต่างๆ ไปด้วย บางทีเมื่อทำวัตรเสร็จแล้วก็ชวนกันสนทนาธรรมหรือทบทวนคำสอนอันเป็นที่มาของการ “สวดมนต์”

ต่อมาคงจะได้คิดจัดสถานที่อันเป็นส่วนกลางขึ้นเป็นอย่าง “ห้องรับแขก” จะเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือพระเถระผู้ใหญ่ที่พำนักเป็นประธานอยู่ในที่นั้นก็นัดหมายไปเฝ้าหรือไปพบ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น และเรียกสถานที่จัดไว้เพื่อการเช่นนี้ว่า “อุปัฏฐานศาลา

การไปชุมนุมกันเพื่อทำวัตรแล้วถือโอกาสสนทนาธรรมหรือทบทวนคำสอนเช่นนี้นิยมทำสืบต่อกันมา เป็นเหตุให้เกิดธรรมเนียม “ทำวัตรสวดมนต์” ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปฏฺฐานสาลา” ว่า hall for attendance, assembly room, chapel (ศาลาเป็นที่บำรุง, หอฉัน, โรงสวด)

ครั้นเมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว จึงนิยมกำหนดให้มีสถานที่ส่วนหนึ่งในอารามเป็น “อุปัฏฐานศาลา” สำหรับภิกษุสามเณรรวมถึงอารามิกชนชุมนุมกันทำวัตรสวดมนต์

อุปัฏฐานศาลา” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงสถานที่ไปเฝ้ารับใช้ผู้เป็นประธานจึงขยายความหมายไปเป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์ หรือ “หอสวดมนต์” ด้วยประการฉะนี้

และ “หอสวดมนต์” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ

(1) หอฉัน

(2) หอสวดมนต์

(3) หอระฆัง

(4) หอกลอง

(5) หอไตร

หมายเหตุ: บางวัดอาจไม่ได้สร้าง “หอสวดมนต์” ไว้โดยเฉพาะ แต่ใช้อุโบสถหรือบางทีก็หอฉันเป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ แต่ว่าตามแบบแผนแล้ว “หอสวดมนต์” เป็นสถานที่ซึ่งต้องมีอยู่ทุกวัด

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีศีล แต่ไม่รักษา

: มีสิกขา แต่ไม่ฝึกฝน

: มีพุทธมนต์ แต่ไม่หมั่นสวด

: มีนักบวช แต่ไม่รู้พระธรรมวินัย

สี่สิ่งท่านว่าไว้ แม่นแม้นไป่มี

#บาลีวันละคำ (2,267)

27-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย