บาลีวันละคำ

เภรีฆระ – หอกลอง (บาลีวันละคำ 2,270)

เภรีฆระ – หอกลอง

หนึ่งใน “ห้าหอ” ที่วัดต้องมี

อ่านว่า เพ-รี-คะ-ระ

ประกอบด้วยคำว่า เภรี + ฆระ

(๑) “เภรี

บาลีเป็น “เภริ” (เพ-ริ) รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ริ ปัจจัย, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, (ภี > เภ)

: ภี + ริ = ภีริ > เภริ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุกลัวแห่งศัตรู” (คือทำให้ศัตรูกลัวได้) หมายถึง กลอง (the drum)

บาลี “เภริ” ภาษาไทยใช้ทั้ง “เภริ” และ “เภรี” แต่เสียง “-รี” ฟังดูนุ่มนวลกว่า เราจึงมักได้ยินพูดกันทั่วไปว่า เพ-รี คือสะกดเป็น “เภรี” มากกว่า “เภริ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เภริ, เภรี : (คำนาม) กลอง เช่น อินทเภรี ชัยเภรี, บางทีใช้เป็น ไภรี หรือ ไภริน ก็มี. (ป.).”

(๒) “ฆระ

บาลีเป็น “ฆร” อ่านว่า คะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ฆรฺ (ธาตุ = หลั่งไป) + ปัจจัย

: ฆรฺ + = ฆร แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หลั่งออกแห่งฝนคือกิเลส” (คือเป็นสถานที่มนุษย์เสพสังวาสกัน)

(2) คหฺ (ธาตุ = ถือเอา) + ปัจจัย, แปลง คห เป็น ฆร

: คหฺ + = คห > ฆร แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อันเขาถือครอง

ฆร” (นปุงสกลิงค์) โดยตรงหมายถึง บ้าน (a house) แต่เมื่อนำไปต่อท้ายคำอื่นทำให้มีความหมายถึงสถานที่หรือของที่ทำขึ้นเพื่อใช้การเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ เช่น –

ชนฺตาฆร” (ชัน-ตา-คะ-ระ) หมายถึง ห้องร้อนสำหรับอบตัว, เรือนไฟ (a hot room for bathing purposes, a sitzbath)

สูจิฆร” (สู-จิ-คะ-ระ) หมายถึง กล่องใส่เข็ม (a needle case)

เภรี + ฆร = เภรีฆร (เพ-รี-คะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่าว่า “เรือนแห่งกลอง” หรือ “เรือนเภรี” หมายถึง อาคารขนาดเล็กที่สร้างไว้สำหรับแขวนกลอง คือ “หอกลอง” (a drum tower)

เภรีฆร” ในภาษาไทยใช้เป็น “เภรีฆระ

ขยายความ :

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว และมีการสร้าง “หอระฆัง” เพื่อตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้เวลาที่ชาววัดทำกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ชาวบ้านอนุโมทนาแล้ว ได้เกิดความคิดให้มี “หอกลอง” ขึ้นอีกหอหนึ่งในอารามเพื่อตีบอกเวลา เป็นคู่กับ “หอระฆัง” ชั้นเดิมอาจจะตีในช่วงเวลาสำคัญของวัน ดังมีคำว่า “ย่ำค่ำ” และ “ย่ำรุ่ง” ซึ่งหมายถึงย่ำกลองหรือย่ำระฆังนั่นเอง

แต่ตกมาภายหลังได้แยกหน้าที่กันค่อนข้างชัดเจน คือ ตีระฆังเป็นสัญญาณบอกการทำกิจวัตรประจำวันของสงฆ์ ตีกลองเพื่อบอกเวลา เช่นตีกลองในเวลา 11:00 นาฬืกา บอกเวลาพระฉันเพล เรียกกันว่า “กลองเพล” ดังที่วัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดในชนบทยังตี “กลองเพล” อยู่ในปัจจุบันนี้

หอกลอง” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม สำหรับตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีกิจที่ควรทำหรือควรรับรู้เกิดขึ้นในอาราม

การสร้าง “หอกลอง” ขึ้นในวัดจึงได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน

และ “หอกลอง” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ

(1) หอฉัน

(2) หอสวดมนต์

(3) หอระฆัง

(4) หอกลอง

(5) หอไตร

บางวัด “หอกลอง” กับ “หอระฆัง” แยกกันเป็นคนละหอ แต่บางวัดเป็นหอเดียวกันก็มี คือชั้นบนแขวนระฆัง ชั้นล่างแขวนกลอง หรือแขวนไว้ชั้นเดียวกัน แต่คนละมุม ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม

อนึ่ง บางโอกาสอาจตีกลองควบคู่ไปกับตีระฆัง ดังเสียงปากที่เราคุ้นกันว่า ตะ-ลุ่ม-ตุ้ม-เม็ง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่า “ตะ-ลุ่ม-ตุ้ม” คือเสียงกลอง “เม็ง” คือเสียงระฆัง

คำว่า “หอกลอง” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

แนวคิด :

แต่เดิมกลองและระฆังเป็นอุปกรณ์ใช้ส่งสัญญาณบอกเหตุหรือบอกเวลา เป็นสิ่งที่มีใช้อยู่ในวัดและใช้กันมานานนักหนาจนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างสำคัญที่บอกถึงวิถีชีวิตของชาววัด

ปัจจุบันแม้เราจะมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่อาจใช้ได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือทันสมัยกว่า แต่เสียงกลองเสียงระฆังที่ดังออกมาจากวัดก็ยังเป็นสิ่งบอกเหตุให้รู้ได้เป็นอย่างดีว่า วิถีชีวิตของชาววัดหรือวิถีชีวิตสงฆ์ยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปเป็นปกติ

กลองและระฆังจึงมีความหมายและมีคุณค่ายิ่งกว่าเป็นอุปกรณ์บอกเหตุหรือบอกเวลาธรรมดาทั่วไป

รื้อฟื้น “หอกลอง

รื้อฟื้นการตี “กลองเพล

คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของวัด

คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของพระศาสนา

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วัดที่ไม่รักษาสัญญาณกลองเพล

: จะแน่ใจหรือว่าพระเณรยังรักษาพระธรรมวินัย?

#บาลีวันละคำ (2,270)

30-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *