บาลีวันละคำ

ทมิฬหินชาติ (บาลีวันละคำ 2,290)

ทมิฬหินชาติ

คำที่ถูกระบายสี

อ่านว่า ทะ-มิน-หิน-นะ-ชาด

ประกอบด้วยคำว่า ทมิฬ + หินชาติ

(๑) “ทมิฬ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทมิฬ : (คำนาม) ชนพื้นเมืองอินเดียเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันมีอยู่มากทางอินเดียแถบใต้และเกาะลังกาแถบเหนือ, ชื่อภาษาของชนเผ่านั้น. (คำวิเศษณ์)  ดุร้าย, ร้ายกาจ, เช่น ใจทมิฬ ยุคทมิฬ, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ หินชาติ เป็น ใจทมิฬหินชาติ. (ป.).”

คำว่า “ทมิฬ” มีใช้ในคัมภีร์บาลีในฐานะเป็นอสาธารณนาม (proper name) คือเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่ง

ในขณะที่เขียนบาลีวันละคำวันนี้ผู้เขียนยังไม่พบตำราที่แสดงรากศัพท์ แต่อาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “ทมิฬ” บาลีอ่านว่า ทะ-มิ-ละ รากศัพท์มาจาก ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ปราบ, ข่ม) + อิล ปัจจัย, แปลง เป็น

: ทมฺ + อิล = ทมิล > ทมิฬ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข่มศัตรู

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ทมินฺ” บอกไว้ดังนี้ –

ทมินฺ : (คำนาม) ผู้ทำให้เชื่อง, ผู้ปราบปราม, ผู้ระงับ; a tamer, a dominator, a pacifier or peacemaker.”

ทมินฺ” เสียงใกล้กับ “ทมิฬ” ออกมาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ทมฺ ธาตุ เทียบกับบาลีเป็น “ทมี” แปลว่า ผู้ฝึก, ผู้ปราบ

ที่ว่ามานี้เป็นเพียงเสนอเพื่อพิจารณาไว้ชั้นหนึ่งก่อน จนกว่าจะพบที่มาที่แน่นอน หรือจนกว่าจะได้สอบสวนที่มาของศัพท์ให้แน่ชัดต่อไป

(๒) “หินชาติ

บาลีเป็น “หีนชาติ” (ฮี-นะ-ชา-ติ) แยกศัพท์เป็น หีน + ชาติ

(ก) “หีน” (ฮี-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง, ไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อา ที่ หา, ยืดเสียง อิ ที่ อิน เป็น อี (สูตรไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง”)

: หา > + อิน > อีน = หีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ละความเป็นผู้สูงสุด” “ผู้ถึงความเป็นคนเลว

(2) หิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อิน ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง

: หิ > + อิน > อีน = หีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

หีน” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เลว, ต่ำ; ต่ำต้อย, น่าสงสาร; น่าสมเพช, แย่, ชั่วร้าย, เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลน (inferior, low; poor, miserable; vile, base, abject, contemptible, despicable)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หีน– : (คำวิเศษณ์) เลว, ทราม, ตํ่าช้า. (ป., ส.).”

(ข) “ชาติ” (ชา-ติ)

รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.

(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

หีน + ชาติ = หีนชาติ แปลตามศัพท์ว่า “เกิดเป็นคนเลว

ข้อสังเกต :

พึงทราบว่า ในภาษาบาลี คำว่า “ชาติ” ในที่บางแห่งใช้เป็นศัพท์ที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “คำสกรรถ” (คำ-สะ-กัด) คือคำที่เพิ่มเข้าข้างหลังคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว มีความหมายคงเดิม

ดังนั้น คำว่า “ชาติ” ในที่นี้จึงอาจจะไม่ต้องแปลก็ได้ คงแปลเฉพาะ “หีน-” คือ “หีนชาติ” แปลว่า เลว, ทราม, ตํ่าช้า

หีนชาติ” ภาษาไทยใช้เป็น “หินชาติ” (หิน-นะ-ชาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หินชาติ : (คำวิเศษณ์) มีกําเนิดตํ่า, เมื่อใช้เข้าคู่กับคํา ทมิฬ เป็น ทมิฬหินชาติ หมายความว่า โหดเหี้ยม เช่น ใจทมิฬหินชาติ.”

อภิปราย :

ทมิฬ” เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มักถูก “ระบายสี” ให้เห็นว่าเป็นพวกโหดร้าย มีนิสัยเลวทรามต่ำช้า เทียบได้กับชนเผ่าอินเดียแดงในอเมริกาที่ครั้งหนึ่งคนไทยเราก็รู้สึกกันว่าเป็นพวกโหดร้ายเลวทราม ดังนั้น คำว่า “ทมิฬ” จึงพลอยมีความหมายไปในทางไม่ดีไปด้วย

เมื่อแปรความหมายของ “ทมิฬ” ไปในทางร้าย ภาษาไทยก็เลยเอาคำว่า “หีนชาติ” ซึ่งมีความหมายว่าเลวทรามมาต่อเป็นสร้อยคำ และเพื่อให้ได้เสียงรับสัมผัสกัน เราจึงลดเสียง “หีน-” เป็น “หิน-” รับสัมผัสคำว่า “ทมิฬ” เป็น “ทมิฬหินชาติ” ดังที่ใช้กันอยู่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าจิตยังริษยาอาฆาต

: นั่นแหละทมิฬหินชาติตัวจริง

#บาลีวันละคำ (2,290)

19-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *