สฺวากฺขาโต [2] (บาลีวันละคำ 2,298)
สฺวากฺขาโต [2]
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
“สฺวากฺขาโต” รูปคำเดิมคือ “สฺวากฺขาต” (สฺวาก-ขา-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อกฺขาต
(ก) “อกฺขาต” (อัก-ขา-ตะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ต ปัจจัย, รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > อ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > อ + กฺ + ขา)
: อา > อ + กฺ + ขา = อกฺขา + ต = อกฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้ว” หมายถึง ประกาศ, ป่าวร้อง, กล่าว, บอก, แสดง (announced, proclaimed, told, shown)
(ข) สุ + อกฺขาต แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ทีฆะสระหลัง คือ อะ ที่ อกฺ-(ขาต) เป็น อา (อกฺขาต > อากฺขาต)
: สุ > โส > สฺว + อกฺขาต = สวกฺขาต > สฺวากฺขาต
(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา + กฺ + ขา)
: สุ > โส > สฺว + อา + กฺ + ขา = สฺวากฺขา + ต = สฺวากฺขาต
“สฺวากฺขาต” แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กล่าวดียิ่งแล้ว” นิยมแปลกันทั่วไปว่า (พระธรรม) อัน (พระผู้มีพระภาค) ตรัสไว้ดีแล้ว (well preached)
“สฺวากฺขาต” ออกเสียงอย่างไร?
คนทั่วไปถูกสอนให้ออกเสียว่า สะ-หฺวาก-ขา– คือออกเสียง สะ- เต็มคำ
ถ้าดูวิธีเขียนจะเห็นว่า สฺวากฺ– มีจุดใต้ สฺ ถ้าเขียนแบบคำอ่าน จะใช้เครื่องหมายพิเศษบนตัว ส เป็น “ส๎วากขาตะ” ไม่ใช่ “สะวากขาตะ” เป็นการบังคับไม่ให้ออกเสียงว่า สะ– เต็มคำ แต่ให้ออกเสียง ส ควบกับ ว คือออกเสียง ส ครึ่งเสียงแล้วกระโดดไปที่ ว ทันที (สฺว– เสียงคล้ายกับคำว่า สั่ว-)
ถ้าดูรูปคำเดิม จะเห็นว่า “สฺวากฺขาต” มีคำว่า สุ + อากฺ + ขา + ต
ลองออกเสียง สุ-อาก-ขา-ตะ ช้าๆ แล้วค่อยเร็วขึ้น เสียงจะกลายเป็น สวก–ขา-ตะ (สวก– เสียงเดียวกับ [ถูก]จวก [สะ]ดวก [ถอด]หมวก)
“สฺวากฺขาต” จึงควรออกเสียงว่า สวก-ขา-ตะ
เนื่องจากระบบการเรียนบาลีในเมืองไทยเป็นการเรียนเพื่อแปลคัมภีร์ ไม่ใช่เรียนเพื่อสนทนาหรือเพื่อพูด เราจึงไม่เข้มงวดในเรื่องการออกเสียง ผลก็คือจะออกเสียงอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจเรื่องผิดถูก ออกกันตามสะดวก
แต่ถ้าเคารพภาษากันสักหน่อย ลองนึกว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ก็ควรสนใจการออกเสียงแล้วพยายามออกเสียงให้ถูกต้อง ก็จะเป็นการบูชาพระธรรมได้ทางหนึ่ง
“สฺวากขาต” เป็นคำขยาย “ธมฺโม” (พระธรรม) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สฺวากขาโต” (สวก-ขา-โต)
“สฺวากขาโต” ที่ชาวพุทธคุ้นกันดีที่สุดก็คือ “สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม” เป็นบทขึ้นต้นแห่งพระธรรมคุณที่นิยมยกมาเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำนมัสการพระรัตนตรัยส่วนที่นมัสการพระธรรมที่ว่า –
“สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม, ธมฺมํ นมสฺสามิ”
แปลว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว, ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม”
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคพรรณนาเหตุผลที่พระธรรมได้ชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” สรุปได้ดังนี้ –
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย เป็นธรรมประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะปฏิบัติแล้วเห็นผลได้จริงตรงแท้ตามที่ตรัสไว้ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันสามารถยังผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานได้จริง
…………..
แถมท้าย :
ในกระบวนการค้า เราจะพบว่า ผู้ผลิตจะพยายามชี้นำว่าสินค้าของตนผลิตขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคโดยแท้
แต่ถ้ามองให้ตลอดสายก็จะพบความจริงว่า โดยเนื้อแท้แล้วสินค้าทุกชนิดผลิตขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตเองทิ้งสิ้น ประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นเพียงเครื่องบังหน้า หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง-ซึ่งอาจเรียกให้ฟังดูดีว่า ต่างอวยประโยชน์เกื้อกูลแก่กันและกัน
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
ในโลกที่คนเห็นศาสนาเป็นสินค้า
: อย่ามองแค่ว่าเป็นคำสอนที่ดี มีคนโปรด
: แต่จงมองต่อไปว่าเป็นคำสอนเพื่อประโยชน์ของใคร
: ของผู้นำไปประพฤติปฏิบัติ
: หรือในที่สุดแล้ว-ก็ของตัวผู้สอนนั่นเอง
#บาลีวันละคำ (2,298)
27-9-61