บาลีวันละคำ

ครุภัณฑ์ – ลหุภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 2,299)

ครุภัณฑ์ – ลหุภัณฑ์

หมายถึงอะไร

อ่านว่า คะ-รุ-พัน / ละ-หุ-พัน

คะ-รุ- แยกพยางค์ ไม่ใช่ควบกล้ำเป็น คฺรุ-

“คฺรุ-” เป็นภาชนะสานชนิดหนึ่ง

ย้ำ: “ครุภัณฑ์” อ่านว่า คะ-รุ-พัน ไม่ใช่ คฺรุ-พัน

มีคำบาลี 3 ศัพท์ คือ “ครุ” “ลหุ” “ภัณฑ์

(๑) “ครุ

อ่านว่า คะ-รุ รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลี ถ้าเป็นคุณศัพท์ใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

ถ้าเป็นนาม ใช้ในความหมายว่า คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ครุ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ครุ ๑ : [คฺรุ] (คำนาม) ภาชนะสานชนิดหนึ่ง รูปกลม ๆ เหมือนกะลาตัด ยาชัน มีหูหิ้ว ใช้ตักน้ำ.

(2) ครุ ๒ : [คะรุ] (คำวิเศษณ์) หนัก, ใช้ในตําราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวและสระเกินทั้ง ๔ คือ สระอำ ใอ ไอ เอา เช่น ตา ดำ (สระอำถือเป็น ครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้) และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น หัด เรียน ใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน, คู่กับ ลหุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน. (ป. ครุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง; ส. คุรุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง).

(3) ครุ ๓ : [คะรุ] (คำนาม) ครู. (ป. ครุ, คุรุ, ว่า ครู; ส. คุรุ ว่า ครู).

ครุ” ในที่นี้ มีความหมายตาม ครุ

(๒) “ลหุ

อ่านว่า ละ-หุ รากศัพท์มาจาก ลงฺฆฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลบ งฺ แล้วแปลง ฆฺ เป็น หฺ (ลงฺฆฺ > ลฆฺ > ลหฺ)

: ลงฺฆฺ + อุ = ลงฺฆุ > ลฆุ > ลหุ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไปอย่างเบา” หมายถึง เบา, เร็ว (light, quick)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลหุ : (คำวิเศษณ์) เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ, ใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน, คู่กับ ครุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน.”

(๓) “ภัณฑ์

บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ภฑิ > ภํฑิ) แล้วแปลงเป็น , ลบ และสระที่สุดธาตุ

: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป

ภณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”

ครุ + ภณฺฑ = ครุภณฺฑ (คะ-รุ-พัน-ดะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของอันหนัก” หมายถึง สิ่งของที่พึงให้ความสำคัญ

ลหุ + ภณฺฑ = ลหุภณฺฑ (ละ-หุ-พัน-ดะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของอันเบา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ครุภัณฑ์” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ลหุภัณฑ์

คำว่า “ครุภัณฑ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครุภัณฑ์ : (คำนาม) ของที่ใช้ทนทาน เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้.”

ในแง่พระธรรมวินัย พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ครุภัณฑ์” และ “ลหุภัณฑ์” ไว้ดังนี้ –

(1) ครุภัณฑ์ : ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น; คู่กับ ลหุภัณฑ์

(2) ลหุภัณฑ์ : ของเบา เช่น บิณฑบาต เภสัชและของใช้ประจำตัว มีเข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นต้น; คู่กับ ครุภัณฑ์

สรุปเพื่อเข้าใจสั้นๆ ดังนี้ –

ของอันไม่ใช่สำหรับใช้สิ้นไป เป็นของควรรักษาไว้ได้นาน เช่นเครื่องใช้ในเสนาสนะหรือตัวเสนาสนะเอง ตลอดถึงกุฏิและที่ดิน จัดเป็นครุภัณฑ์

ของอันจะพึงบริโภคสิ้นไป เช่น บิณฑบาต เภสัช กับบริขารประจำตัว (ของใช้ส่วนตัว) เช่น บาตร จีวร และของเล็กน้อย เช่นเข็มเย็บผ้า มีดโกน เป็นลหุภัณฑ์

อาจจำเป็นหลักไว้ว่า –

ครุภัณฑ์ : ของส่วนกลางหรือของสงฆ์ที่ภิกษุใช้ร่วมกัน

ลหุภัณฑ์ : ของฉันของใช้ส่วนตัวของภิกษุ

ขยายความ :

ในคัมภีร์ระบุรายชื่อสิ่งที่เรียกว่า “ครุภณฺฑ” ไว้ดังนี้ –

(1) อาราโม = สวน (หมายถึงพืชผลในสวน)

(2) อารามวตฺถุ = ที่ดินที่ตั้งสวน

(3) วิหาโร = วิหาร (หมายถึงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง)

(4) วิหารวตฺถุ = ที่ดินที่ตั้งอาคาร

(5) มญฺโจ = เตียง

(6) ปีฐํ = ตั่ง

(7) ภิสี = ฟูก

(8) พิมฺโพหนํ = หมอน

(9) โลหกุมฺภี = หม้อโลหะ

(10) โลหภาณกํ = อ่างโลหะ

(11) โลหวารโก = กระถางโลหะ

(12) โลหกฏาหํ = กระทะโลหะ

(13) วาสี = มีด

(14) ผรสุ = ขวาน

(15) กุฐารี = ผึ่ง

(16) กุทฺทาโล = จอบ

(17) นิขาทนํ = สว่าน

(18) วลฺลี = เถาวัลย์

(19) เวฬุ = ไม้ไผ่

(20) มุญฺชํ = หญ้ามุงกระต่าย

(21) ปพฺพชํ = หญ้าปล้อง

(22) ติณํ = หญ้าสามัญ

(23) มตฺติกา = ดินเหนียว

(24) ทารุภณฺฑํ = เครื่องไม้

(25) มตฺติกาภณฺฑํ = เครื่องดิน

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

: ของสงฆ์เป็นของศักดิ์สิทธิ์

: กลืนยาพิษประเสริฐกว่าทุจริตของสงฆ์

ดูก่อนภราดา!

กลืนยาพิษ ตายแค่ชาติเดียว

ทุจริตของสงฆ์ ทนทุกข์ทรมานเป็นอเนกอนันตชาติ

—————

#บาลีวันละคำ (2,299)

28-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย