บาลีวันละคำ

สรีรยนต์ (บาลีวันละคำ 2,295)

สรีรยนต์

สี่ล้อ เก้าประตู

อ่านว่า สะ-รี-ระ-ยน

ประกอบด้วยคำว่า สรีร + ยนต์

(๑) “สรีร

บาลีอ่านว่า สะ-รี-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย

: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา

(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง

สรีร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)

(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)

(3) กระดูก (the bones)

(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”

สรีร” สันสกฤตเป็น “ศรีร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”

(๒) “ยนต์

บาลีเป็น “ยนฺต” (ยัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ยา (ธาตุ = ไป, ถึง) + อนฺต ปัจจัย, ลบ อา สระที่สุดธาตุ (ยา > )

: ยา > + อนฺต = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึงกิริยานั้น” คือแสดงกิริยานั้นๆได้ “สิ่งที่ทำอาการนั้นๆ ไปด้วยมือและเท้าเป็นต้น

(2) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย ซ้อน นฺ ในตัวธาตุ ( + นฺ + )

: ยตฺ > + นฺ + = ยนฺต + = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือที่พยายามในการยกขึ้นยกลงเป็นต้นได้” = หุ่นยนต์

ยนฺต” หมายถึง วิธีการสำหรับหยิบจับ, สิ่งที่คิดขึ้น, อุบาย, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก (a means for holding, contrivance, artifice, instrument, machine, mechanism)

ยนฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น ยนต์, ยนตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยนต์, ยนตร์ : (คำนาม) เครื่องกลไก, เครื่องจักรที่ให้กําเนิดพลังงานหรือทําให้วัตถุเคลื่อนที่. (ป. ยนฺต; ส. ยนฺตฺร).”

สรีร + ยนฺต = สรีรยนฺต (สะ-รี-ระ-ยัน-ตะ) > สรีรยนต์ แปลตามศัพท์ว่า “ยนต์คือสรีระ” “เครื่องยนต์คือร่างกาย

ขยายความ :

คำว่า “สรีรยนต์” เป็นแนวคิดในการมองร่างกายของมนุษย์ว่ามีอาการเหมือนเครื่องยนต์ชนิดหนึ่ง

ในคัมภีร์ท่านบรรยายลักษณะของ “สรีรยนต์” ว่า “จตุจกฺก” = มี 4 ล้อ ซึ่งทำให้มองเห็นภาพชัดขึ้นว่าน่าจะเปรียบร่างกายนี้กับรถ

คำว่า “จตุจกฺก” = มี 4 ล้อ ท่านไขความว่า หมายถึงอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อยังเคลื่อนไหวร่างกายไปตามอิริยาบถต่างๆ ได้ สรีรยนต์ก็ยังคงแล่นไปมาได้

ท่านว่าสรีรยนต์นี้ “นวทฺวาร” = มี 9 ประตู ซึ่งหมายถึง ทวารทั้ง 9 ในร่างกายของคนเรา คือ ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1 ทวารหนัก 1 ทวารเบา 1

นอกจากนั้น ท่านว่าสรีรยนต์นี้ “อสุจิปูร” = บรรทุกของไม่สะอาดเต็มคัน หมายความว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลอยู่ในภายใน

แต่ที่สำคัญที่สุดท่านว่า “โลเภน สํยุตฺต” = มีจิตอันประกอบด้วยความโลภเป็นผู้ควบคุม ซึ่งน่าจะหมายความว่า สรีรยนต์คันนี้มีกิเลสตัณหาเป็นคนขับ

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

เราท่านมี “สรีรยนต์” กันแล้วคนละคัน

จะขับไปไหนกัน เชิญตามใจปรารถนาเถิด

: ขับไปนรก คือคนพาล

: ขับไปสวรรค์นิรวาณ คือบัณฑิต

#บาลีวันละคำ (2,295)

24-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย