นิกเขปบท (บาลีวันละคำ 2,294)
นิกเขปบท
บทกำหนดแนวทางแสดงธรรม
อ่านว่า นิก-เข-ปะ-บด
ประกอบด้วยคำว่า นิกเขป + บท
(๑) “นิกเขป”
บาลีเขียน “นิกฺเขป” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า นิก-เข-ปะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + ขิปฺ (ธาตุ = ซัด, ทอดทิ้ง) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ (ขิป > เขป), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + กฺ + ขิปฺ)
: นิ + กฺ + ขิปฺ = นิกฺขิปฺ + อ = นิกฺขิป > นิกฺเขป แปลตามศัพท์ว่า “ข้ออันเขาวางลงไว้”
“นิกฺเขป” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การวางลง, การวางไว้ (putting down, laying down)
(2) การเหวี่ยงทิ้ง, การละทิ้ง, การทำให้หมดไป (casting off, discarding, elimination)
(3) การยกเลิก, การสละ (giving up, renunciation)
(4) การคัดมาอย่างย่อๆ หรือการเขียนอย่างสรุป (abstract or summary treatment)
บาลี “นิกฺเขป” สันสกฤตเป็น “นิเกฺษป”
ขอยกคำนิยามใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มาเสนอไว้เพื่อเปรียบเทียบความหมายระหว่าง 2 ภาษา ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิเกฺษป : (คำนาม) อุปนิธิ, สิ่งมัดจำ, สิ่งซึ่งฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งยึดถือไว้เปนประกันหรือจำนำ; การสละ, การเริดร้าง, การทิ้งขว้าง; การไล่ส่งหรือละทิ้ง; การเช็ด, การปัด, การซับให้แห้ง; a pledge, a deposit in general; abandoning, parting with, throwing away; sending or putting away; wiping, drying.”
“นิกเขป” เขียนแบบไทย ไม่มีจุดใต้ ก คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
(๒) “บท”
บาลีเป็น “ปท” (ปะ-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + อ ปัจจัย
: ปทฺ + อ = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า
“ปท” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :
(1) เท้า (foot)
(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)
(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)
(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place
(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)
(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)
ในที่นี้ “ปท” ใช้ในความหมายตามข้อ (6)
“ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.
(2) กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท
(3) คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.
(4) คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.
(5) คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.
นิกฺเขป + ปท = นิกฺเขปปท (นิก-เข-ปะ-ปะ-ทะ) > นิกเขปบท (นิก-เข-ปะ-บด) แปลว่า “บทที่ตั้งไว้” หมายถึง ข้อความในคัมภีร์ต้นฉบับที่ยกมาตั้งไว้เพื่อจะอธิบายขยายความต่อไป
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “นิกเขปบท” เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
Nikkhepapada : a verse or words of summary; thesis; verse or passage set up for detailed treatment in a discourse; a saying quoted for discoursing; discourse-opening verse.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิกเขปบท” ไว้ดังนี้ –
“นิกเขปบท : บทตั้ง, คำหรือข้อความ ที่ย่อจับเอาสาระมาวางตั้งลงเป็นแม่บท เพื่อจะขยายความ หรือแจกแจงอธิบายต่อไป.”
ขยายความ :
ในการแสดงพระธรรมเทศนา มีหลักอยู่ว่า พระธรรมกถึก (พระผู้แสดงธรรม) มีหน้าที่แสดงคำสอนของพระพุทธเจ้ารวมทั้งคำสอนอันมีมาในพระไตรปิฎก (ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของตัวพระธรรมกถึกเอง)
ดังนั้น จะแสดงธรรมข้อไหน ก็ยกหัวข้อธรรมนั้น ซึ่งอาจเป็นคาถา (บทร้อยกรอง) หรือข้อความร้อยแก้วที่กล่าวด้วยข้อธรรมนั้นขึ้นมาตั้งไว้เป็นเบื้องต้น เป็นการบอกให้ผู้ฟังทราบว่าจะแสดงธรรมะข้อนั้น ข้อความที่ยกมาตั้งไว้นี้ เรียกว่า “นิกเขปบท”
ตามแบบแผนของการแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อให้ศีลจบแล้ว พิธีกรอาราธนาธรรม พระธรรมกถึกตั้งนะโม 3 จบแล้ว ยก “นิกเขปบท” ขึ้นมาตั้ง เช่น –
…………..
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมสมฺพุทฺธสฺส (3 จบ)
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ติ.
…………..
“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” นี่คือ “นิกเขปบท” (คำสุดท้ายของข้อความจะสนธิกับคำว่า “อิติ” เห็นรูปคำเพียง “-ติ”)
ต่อจากนี้จะเป็นคำอารัมภบท (ภาษาไทย) ตามแบบแผน แล้วจึงเข้าสู่เนื้อหา ซึ่งตามหลักการอธิบายธรรมจะประกอบด้วย –
๑ บอกถึงที่มาของ “นิกเขปบท” ว่ายกมาจากคัมภีร์อะไร
๒ เล่าถึงความเป็นมาว่า มีเหตุอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงตรัส (หรือเจ้าของข้อความนั้นจึงกล่าว) ข้อความอันเป็น “นิกเขปบท” ที่ยกมานั้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจภูมิหลังของธรรมะ
๓ จากนั้นจึงอธิบายความหมายของถ้อยคำใน “นิกเขปบท” ว่าแต่ละคำหมายความว่าอย่างไร คำอธิบายนี้ไม่ใช่คิดเอาเอง แต่ต้องอ้างหลักฐานในคัมภีร์ต่างๆ
ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า คนสมัยเรา-โดยเฉพาะตัวพระธรรมกถึกเอง-ไม่ใช่เป็นคนแรกที่ได้รู้ได้เห็นได้รู้จักพระพุทธศาสนา แต่มีคนรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนแล้วเป็นอันมากและรู้จักมานานนักหนา
พระธรรมวินัยข้อไหนๆ ที่เรารู้เห็นขบคิดตรึกตรองลองปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้ล้วนมีคนรู้เห็นขบคิดตรึกตรองลองปฏิบัติมาก่อนเราแล้วทั้งสิ้น ท่านเหล่านั้นได้อธิบายบอกกล่าวไว้ทุกเรื่องทุกข้อ ดังที่เรารู้จักกันในนามอรรถกถา ฎีกา โยชนา อาจริยมติ เป็นต้น
พระธรรมกถึกมีหน้าที่เพียงแต่ไปศึกษาค้นคว้าคำอธิบายเหล่านั้นมาบอกกล่าวเท่านั้น ถ้าศึกษาให้ละเอียดครบถ้วนก็จะพบคำอธิบายมากพอที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมะข้อนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยตัวพระธรรมกถึกไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นอะไรอีกเลย เพียงทำหน้าที่ดังที่คำคนเก่าเรียกว่า “ทูตอ่านสาร” เท่านั้น
นี่คือแบบแผนการแสดงธรรมที่ท่านนำสืบกันมา
ข้อสังเกต :
ปัจจุบันนี้การแสดงพระธรรมเทศนาผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปมาก ส่วนมากยก “นิกเขปบท” มาตั้งไว้ตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่เนื้อในล้วนเป็นความคิดเห็นของพระธรรมกถึกเองแทบไม่ได้อ้างอรรถกถาฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น
บางทียก “นิกเขปบท” มาตั้งไว้แล้วพูดเรื่องอื่นไปจนหมดเวลาไม่ได้อธิบายตัวนิกเขปบทเลยแม้แต่คำเดียวก็เคยมี
ดังนี้ แทนที่จะเป็นการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ก็กลายเป็นแสดงธรรมของข้าพเจ้าไปสิ้น
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่แสดงธรรมตามนิกเขปบท
: คือนักเทศน์ที่ทรยศต่อพระศาสดา
#บาลีวันละคำ (2,294)
23-9-61