อภิมหาสังฆทาน (บาลีวันละคำ 2,296)
อภิมหาสังฆทาน
ยิ่งอลังการก็ยิ่งเลอะเลือน
อ่านว่า อะ-พิ-มะ-หา-สัง-คะ-ทาน
แยกคำเป็น อภิ + มหา + สังฆ + ทาน
(๑) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(๒) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –สังฆทาน เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๓) “สังฆ”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
(๔) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –
“ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;
การประสมคำ :
๑ สงฺฆ + ทาน = สงฺฆทาน > สังฆทาน เป็นคำแสดงกิริยาอาการ แปลว่า “ให้แก่สงฆ์” คือให้แก่ส่วนรวม ให้เป็นของส่วนกลางเพื่อให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ ได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน
๒ มหา + สงฺฆทาน = มหาสงฺฆทาน > มหาสังฆทาน แปลว่า “สังฆทานใหญ่”
๓ อภิ + มหาสงฺฆทาน = อภิมหาสงฺฆทาน > อภิมหาสังฆทาน แปลว่า “สังฆทานใหญ่อย่างยิ่ง”
หมายเหตุ : คำว่า “อภิมหาสังฆทาน” ไม่มีในคัมภีร์ เป็นคำที่เกจิในเมืองไทยเรานี่เองประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ
ที่ยกคำนี้มาแยกศัพท์ประกอบคำให้ดู ก็มิได้ประสงค์จะสนับสนุนให้ใช้คำนี้ แต่เผื่อใครอยากจะรู้ศัพท์ จะได้อ่านออกบอกถูก
แต่พึงช่วยกันเข้าใจและบอกกันด้วยว่า เป็นคำนอกตำรา
อภิปรายขยายความ :
“ทาน” ในพระพุทธศาสนา เมื่อเล็งถึงตัวผู้รับตามเจตนาของผู้ให้ ท่านแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ –
(1) ปาฏิบุคลิกทาน : ทานที่เจาะจงตัวผู้รับ คือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น เจตนาถวายเจ้าอาวาส ถวายท่านเจ้าคุณรูปนั้น ถวายพระมหารูปโน้น (offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
(2) สังฆทาน : ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม คือตั้งเจตนาอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง แต่ถวายให้เป็นของกลางแก่สงฆ์ซึ่งมาแต่จาตุรทิศ (offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)
จะเห็นได้ว่า เกณฑ์ตัดสินความเป็น “สังฆทาน” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ถวายอะไร” แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ถวายใคร” และ “ถวายอย่างไร”
บรรดาหนังสือที่พูดถึงเรื่อง “สังฆทาน” เท่าที่เขียนกันออกมามักจะเน้นไปที่ “ถวายอะไร” แต่ไม่เคยเน้น-หรือไม่ได้เอ่ยถึงเลย-ว่า ถวายสังฆทานคือตั้งเจตนา “ถวายใคร” และ “ถวายอย่างไร” (โปรดอ่านข้อความในภาพประกอบ)
โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าด้วยแล้วล้วนตั้งหน้าตั้งตาแต่จะขายของโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมลูกเล่นสารพัด แต่ไม่เคยตั้งใจที่จะให้สติปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ลูกค้า
ดูเหมือนทุกฝ่ายจะรวมหัวกันเพื่อครอบงำผู้มีศรัทธาให้ทะยานใจไปกับอานิสงส์ของสังฆทาน ประดิษฐ์ถ้อยคำที่หรูหราอลังการขึ้นมาใช้เรียกสังฆทานเพื่อล่อใจ แต่ไม่เคยบอกว่า ถวายสังฆทานที่ถูกต้องนั้นต้องทำอย่างไร
ความเป็นจริงของโลกเรานี้ก็คือ คนเขลามีมากกว่าคนมีปัญญาทุกยุคทุกสมัย
ผู้มีศรัทธาที่ขาดปัญญาจึงเป็นเหยื่ออันโอชาอยู่ในโลกมาทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สันทัดแต่ศรัทธา
ขาดปัญญาย้ำกำกับ
: เป็นเหยื่ออยู่ยุบยับ
ก็ยังยิ้มเพราะอิ่มบุญ
#บาลีวันละคำ (2,296)
25-9-61