บาลีวันละคำ

ระฆัง (บาลีวันละคำ 2,305)

ระฆัง

บาลีว่าอย่างไร

คำบาลีที่หมายถึง “ระฆัง” ที่นักเรียนบาลีรู้จักดีที่สุดคือ “คณฺฑิ

คณฺฑิ” อ่านว่า คัน-ดิ รากศัพท์มาจาก ฆฑิ (ธาตุ = กระทบ, ตี) + อิ ปัจจัย, แปลง ต้นธาตุเป็น , ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงนิคหิตเป็น ณฺ (ฆฑิ > คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ ฆฑิ เป็น ฆฑ

: ฆฑิ > คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ > คณฺฑ + อิ = คณฺฑิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตี” หมายถึง ระฆัง (a bell); ฆ้อง (a gong)

คำที่ออกจาก “คณฺฑิ” คือ “คณฺฑิกา” (คัน-ดิ-กา) รากศัพท์คือ คณฺฑ + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คณฺฑ + อิก = คณฺฑิก + อา = คณฺฑิกา แปลเหมือน “คณฺฑิ

อีกคำหนึ่งที่แปลว่า “ระฆัง” เช่นกัน คือ “ฆณฺฏา

ฆณฺฏา” อ่านว่า คัน-ตา รากศัพท์มาจาก ฆฏฺฏ (ธาตุ = กระทบ, ตี) + ปัจจัย, ลบ ฎฺ, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น ณฺ (ฆฏฺฏฺ > ฆฏฺ > ฆํฏฺ > ฆณฺฏฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ฆฏฺฏฺ > ฆฏฺ > ฆํฏฺ > ฆณฺฏฺ + = ฆณฺฏ + อา = ฆณฺฏา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตี

คำที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ “ระฆัง” อีกคำหนึ่ง คือ “กิงฺกิณี” และ “กิงฺกิณิกา

กิงฺกิณี” อ่านว่า กิง-กิ-นี รากศัพท์มาจาก กึ (กิง, แทนศัพท์ว่า “กุจฺฉิต” น่าเกลียด) + กณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อี ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กึ เป็น งฺ (กึ > กิงฺ), แปลง อะ ที่ -(ณฺ) เป็น อิ (กณฺ > กิณ)

: กึ + กณฺ = กึกณฺ > กิงฺกณฺ > กิงฺกิณฺ + อี = กิงฺกิณี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงน่าเกลียด” (คือน่ารำคาญ)

ส่วน “กิงฺกิณิกา” ก็ออกจาก “กิงฺกิณี” ทำนองเดียวกับ คณฺฑิ > คณฺฑิกา คือ กิงฺกิณ + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

ขยายความ :

“ระฆัง” แบบ “คณฺฑิ” “คณฺฑิกา” หรือ “ฆณฺฏา” เป็นระฆังที่แขวนไว้บนหอระฆัง ใช้ตีบอกสัญญาณ

แต่ “กิงฺกิณี” และ “กิงฺกิณิกา” ไม่ใช่ระฆังที่อยู่ตามหอระฆัง แต่เป็นระฆังเล็กๆ (a small bell, a jingling bell) คือเป็นกระดิ่งเล็ก ๆ ดังนั้นจึงนิยมแปลว่า กำไลข้อเท้า, กระดิ่งข้อเท้า, ลูกกระพรวน

กิงฺกิณี” และ “กิงฺกิณิกา” นี้ถ้าประดับไว้กับตัว เวลาเดินไปไหนๆ จะส่งเสียงกรุ๋งกริ๋งตลอดเวลา ซึ่งเสียงเช่นนี้มักเป็นที่รำคาญของคนทั่วไป จึงเป็นที่มาของคำแปลที่ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงน่าเกลียด” (คือน่ารำคาญ)

อภิปราย :

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว อารามก็มีสภาพเหมือนเป็นที่ชุมนุมพบปะกันของประชาชนหรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากเป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ แล้วยังเป็นที่บอกกล่าวข่าวสารของชุมชนอีกด้วย จึงเกิดความคิดให้มีเครื่องมือส่งสัญญาณบอกข่าวขึ้นไว้ในอาราม ทางบ้านเมืองนิยมใช้ “กลอง” เป็นสัญญาณบอกข่าว ทางอารามจึงคิดใช้ “ระฆัง” เป็นสัญญาณบอกข่าว

หอระฆัง” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม สำหรับแขวนระฆังไว้เพื่อตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีกิจที่ควรทำหรือควรรับรู้เกิดขึ้นในอาราม

ต่อมา เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันทำกิจของสงฆ์อันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาววัดประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่ออนุโมทนาก็ดี หรือมีกิจสำคัญเป็นพิเศษ ประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่อมาร่วมด้วยช่วยกันทำก็ดี จึงตีระฆังเป็นสัญญาณ และกลายเป็นธรรมเนียมที่เมื่อสงฆ์ทำกิจวัตรประจำวันเช่นไหว้พระสวดมนต์เป็นต้น จะต้องตีระฆังเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้และอนุโมทนาสืบมาจนทุกวันนี้

เสียงระฆังจึงเป็นสัญญาณแห่งบุญกุศล มิได้มีความมุ่งหมายที่จะใช้เป็นเครื่องรบกวนความสงบสุขของสังคมแต่ประการใด

ในช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน มีธรรมเนียมมาแต่โบราณที่พระสงฆ์ในอารามต่างๆ จะบำเพ็ญกิจของสงฆ์เพิ่มขึ้น คือเพิ่มการทำวัตรสวดมนต์ในเวลาประมาณตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่งนอกเหนือจากทำวัตรเช้า-เย็นวันละ 2 เวลาที่ทำเป็นปกติอยู่แล้วตลอดทั้งปี

คนไทยเข้าใจธรรมเนียมนี้เป็นอันดีมาแต่โบราณกาล เมื่อได้ยินเสียงระฆังเช้า-เย็น และเวลาตีสี่ในพรรษา ก็จะยกมืออนุโมทนาในบุญกิริยาที่พระสงฆ์ท่านปฏิบัติอันจะพึงรู้ได้โดยสัญญาณระฆังนั่นแล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ธรรมดาของระฆัง

: ย่อมไม่ดังไปถึงเมืองนรก

#บาลีวันละคำ (2,305)

4-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย