เสนาบดี (บาลีวันละคำ 2,309)
เสนาบดี
อ่านว่า เส-นา-บอ-ดี
“เสนาบดี” บาลีเป็น “เสนาปติ” (เส-นา-ปะ-ติ) แยกศัพท์เป็น เสนา + ปติ
(๑) “เสนา”
บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)
ขยายความ :
สมัยโบราณ กองทัพที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยกำลังพลสี่เหล่า คือ พลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ (an army consisting of elephants, chariots, cavalry & infantry) เรียกว่า “จตุรงฺคินี เสนา” (จะ-ตุ-รัง-คิ-นี-เส-นา) แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพมีองค์สี่”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –
“เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”
คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก
(๒) “ปติ”
บาลีอ่านว่า ปะ-ติ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
เสนา + ปติ = เสนาปติ แปลว่า “เจ้าแห่งเสนา” หมายถึง ผู้นำกองทัพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสนาปติ” ว่า a general (นายพล)
“เสนาปติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “เสนาบดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสนาบดี : (คำโบราณ) (คำนาม) แม่ทัพ; ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่; เจ้ากระทรวงซึ่งเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการในปัจจุบัน. (ป., ส.).”
ขยายความ :
ตามรูปศัพท์ “เสนาปติ – เสนาบดี” เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ทางทหาร ตามหลักฐานในคัมภีร์บาลีสรุปได้ว่า ในสมัยพุทธกาล แคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปที่มี “ราชา” เป็นผู้ปกครอง ย่อมมีตำแหน่ง “เสนาปติ” ด้วยเสมอ และถ้าจัดลำดับจาก “ราชา” ลงมา ตำแหน่ง “เสนาปติ” จะอยู่ถัดจาก “อุปราชา” (เช่นใน: ธมฺมปทฏฺฐกถา, ปญฺจโม ภาโค, โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ)
ผู้ดำรงตำแหน่ง “เสนาปติ” นอกจากรับผิดชอบทางการทหารแล้วยังทำหน้าที่ในทางพลเรือนด้วย (เช่นใน: ธมฺมปทฏฺฐกถา, ตติโย ภาโค, วิฑูฑภวตฺถุ)
ถ้าเทียบกับการปกครองในปัจจุบัน “เสนาปติ” ในสมัยพุทธกาลน่าจะเทียบได้กับ “นายกรัฐมนตรี”
…………..
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ของราชบัณฑิตยสภา คำว่า “เสนาบดี” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เขียนไว้ดังนี้ –
…………..
เสนาบดี เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า เสนาปติ (อ่านว่า เส-นา-ปะ -ติ) คำว่า เสนา แปลว่า กองทัพ. ส่วนคำว่า บดี (อ่านว่า บอ-ดี) แปลว่า เจ้า หรือ ผู้เป็นใหญ่. เสนาบดี จึงแปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือกองทัพ หมายถึง แม่ทัพ นายพล
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใช้คำว่า เสนาบดี เป็นชื่อเรียกข้าราชการผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในหน่วยงานระดับกรมซึ่งมีไพร่เป็นกองกำลังในสังกัด ในสมัยนั้นได้แก่ กรมเวียง (อ่านว่า กฺรม-มะ -เวียง) กรมวัง (อ่านว่า กฺรม-มะ -วัง) กรมคลัง (อ่านว่า กฺรม-มะ -คฺลัง) และกรมนา (อ่านว่า กฺรม-มะ -นา) สมัยหลังนิยมเรียกรวมว่า เสนาบดีสี่กระทรวง เสนาบดีทั้งสี่กระทรวงนี้มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยา นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งข้าราชการที่เหนือเสนาบดีขึ้นไปอีก เรียกว่า อัครมหาเสนาบดี มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยา ภายหลังเติมคำว่า สมเด็จ ยกย่องเป็น สมเด็จเจ้าพระยา
เสนาบดี เป็นตำแหน่งที่ใช้เรื่อยมาจนมายกเลิกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ตำแหน่ง เสนาบดี ในระบบราชการโบราณของไทยเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดระดับกระทรวง จึงเทียบเท่าตำแหน่ง รัฐมนตรี ในปัจจุบัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระพุทธศาสนาในเมืองไทยคงย่อยยับ
: ถ้าอยู่กันเหมือนกองทัพที่ไม่มีขุนพล
#บาลีวันละคำ (2,309)
8-10-61