บาลีวันละคำ

ยาววา หนาคืบ กว้างศอก (บาลีวันละคำ 3,547)

ยาววา หนาคืบ กว้างศอก

Humman

โลกของแต่ละคนมีเท่านี้เอง

ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” เป็นคำไทย อ่านกันได้ไม่ยาก คำนี้บางทีอาจพูดสลับตำแหน่งกันได้ เป็น “กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ” หรือแล้วแต่ใครจะเอาคำไหนขึ้นก่อน แต่ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินคุ้นหูมากที่สุดก็คือ “ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” 

อภิปรายขยายความ :

ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” เป็นคำที่นิยมใช้เมื่อปฏิบัติธรรมโดยวิธีพิจารณาร่างกาย เช่นพิจารณาอาการ 32 หรือเจริญอสุภกรรมฐานเป็นต้น เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนหรือความไม่สวยงามของร่างกาย

ยาววา” มีคำบาลีว่า “พฺยามมตฺต” แปลว่า “ประมาณวาหนึ่ง” แยกศัพท์เป็น พฺยาม + มตฺต 

(๑) “พฺยาม” 

อ่านว่า พฺยา-มะ (ออกเสียงว่า เพีย-อา-มะ จะเป็นเสียงที่ถูกต้อง) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อามฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น แล้วแปลง เป็น พฺ (วิ > วฺย > พฺย)

: วิ > วฺย > พฺย + อามฺ = พฺยามฺ + = พฺยาม แปลตามศัพท์ว่า “ระยะเป็นเหตุให้กางออก” (คือต้องกางแขนออก)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พฺยาม” ว่า a fathom, measured by both hands being extended to their full length,

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลคำแปลอังกฤษเป็นไทยว่า ระยะแขนทั้งสองเหยียดจนสุด, ระยะวัดได้ราว 6 ฟุต, วา,

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า only in phrase -ppabhā a halo extending for a fathom around the Buddha (เฉพาะในวลี -ปฺปภา รัศมีแผ่ไปรอบพระพุทธองค์ช่วงระยะหนึ่งวา) 

ศัพท์ว่า “พฺยามปฺปภา” ตามที่พจนานุกรมฯ เอ่ยถึงนี้ พบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี

(๒) “มตฺต” 

อ่านว่า มัด-ตะ (เป็น “มตฺตา” ก็มี) รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, รัสสะ ( = ทำให้เสียงสั้น) อา (ที่ มา) เป็น อะ (มา > ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + )

: มา + ตฺ + = มาตฺต > มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนด” มีความหมายว่า –

(1) ประกอบด้วย, วัดหรือนับได้, ประมาณ (consisting of, measured, measuring)

(2) มากถึง, มากเท่านั้น, เพียงพอ (as much as, so much, some, enough of)

(3) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)

(4) มาตร, ปริมาณหรือจำนวน, ปริมาณที่ถูกต้อง, ความพอดี (measure, quantity, right measure, moderation)

บาลี “มตฺต” สันสกฤตเป็น “มาตฺร” และ “มาตฺรา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) มาตฺร : (คำนาม) สากลย์, สกลพัสดุ; the whole, the entire thing.

(2) มาตฺร : (คำนาม) ‘มาตร,’ พหุบทเพิ่มคำศัพท์; a pleonastic addition to words.

(3) มาตฺร : (คำวิเศษณ์)  เอก, เอกากิน, คนเดียว; only, single.

(4) มาตฺร : (คำกริยาวิเศษณ์) ฉเพาะ, เพียงคนเดียวเท่านั้น; only, solely.

(5) มาตฺรา : (คำนาม) ประมาณ; ประมาณในฉันท์, บาทพยัญชนะ; ต่างหู; ทรัพย์, พัสดุ; สระเสียงสั้น; เวลาครู่หนึ่ง; องค์เบื้องบนของอักษรเทวนาครี; quantity, measure; quantity in mettre, a syllabic foot; an ear-ring; wealth, substance; a short vowel; a moment; the upper limb of the Nāgrī characters.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มัตตะ” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

มัตตะ ๑ : (คำนาม) ประมาณ. (ป.; ส. มาตฺร).”

ที่ใช้เป็น “มาตร” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) มาตร ๑, มาตร– ๑ : (คำนาม) เครื่องสำหรับวัดขนาด จำนวน เวลา และมุม เช่น มาตรน้ำ มาตรไฟฟ้า, มิเตอร์ ก็ว่า. (ส. มาตฺร; ป. มตฺต).

(2) มาตร ๒, มาตร– ๒ : (คำวิเศษณ์) สักว่า. (คำสันธาน) สักว่า, แม้ว่า. (ส. มาตฺร; ป. มตฺต).

พฺยาม + มตฺต = พฺยามมตฺต (เพีย-อา-มะ-มัด-ตะ) แปลว่า “ประมาณวาหนึ่ง

พฺยามมตฺต” ใช้เป็นคำขยายศัพท์ว่า “กเลวร” (กะ-เล-วะ-ระ บางทีเป็น “กเฬพร”) ถ้าสมาสเป็นศัพท์เดียวกันก็ได้รูปเป็น “พฺยามมตฺตกเลวร” แปลว่า “ร่างกายมีขนาดประมาณวาหนึ่ง

ตามรูปศัพท์และคำแปล ไม่ได้ระบุว่า “วาหนึ่ง” เป็นความยาว ความกว้าง หรือความสูง (ความหนา) แต่เป็นที่เข้าใจกันโดยนัยว่าหมายถึง “ความยาว” และหมายถึงความยาวตั้งแต่ปลายผมบนศีรษะจนถึงฝ่าเท้า ตามสำนวนบาลีว่า “อุทฺธํ  ปาทตลา  อโธ  เกสมตฺถกา” แปลความว่า “วัดขึ้นตั้งแต่ฝ่าเท้า วัดลงตั้งแต่ปลายผม” 

พฺยามมตฺต” คำแปลสั้นๆ คือ “ยาววา

ถ้าเทียบตามนี้ : 

หนาคืบ” คำบาลีควรจะเป็น “วิทตฺถิมตฺต” (วิ-ทัด-ถิ-มัด-ตะ) 

วิทตฺถิ” แปลว่า “คืบ” (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า span และมีคำไขว่า of I2 angulas or finger-breadths = 12 องคุลี หรือกว้าง 12 นิ้ว) 

กว้างศอก” คำบาลีควรจะเป็น “รตนมตฺต” (ระ-ตะ-นะ-มัด-ตะ) 

รตน” ในที่นี้แปลว่า “ศอก” (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายตามศัพท์ว่า “measure of length” = เครื่องวัดความยาว) 

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบศัพท์ “วิทตฺถิมตฺต” และ “รตนมตฺต” ที่ใช้อธิบายถึงร่างกายมนุษย์โดยตรงเหมือนกับคำว่า “พฺยามมตฺต

สันนิษฐานว่า “หนาคืบ” และ “กว้างศอก” เป็นคำอธิบายขยายความหรือเสริมความตามมติของครูบาอาจารย์ไทย ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นภาพร่างกายชัดเจนขึ้น และนิยมพูดเข้าชุดกันเป็น “ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” 

พฺยามมตฺต” หรือใช้ศัพท์เต็มว่า “พฺยามมตฺตกเลวร” ในบาลีหลายแห่งใช้เป็นสำนวนเรียก “โลก” กล่าวคือ “โลก” ที่เรารู้จักกันนั้น ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง หนึ่งในความหมายทั้งหลายนั้น “โลก” หมายถึง “พฺยามมตฺตกเลวร” คือหมายถึง ชีวิต โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน 

คำขยายที่ว่า “พฺยามมตฺต” หรือ “พฺยามมตฺตกเลวร” นี่เองสำนวนเก่าของครูบาอาจารย์ไทยท่านแปลว่า “โลกคือกายยาววา” (แปลจากคำว่า พฺยามมตฺต) และเสริมความว่า “หนาคืบ กว้างศอก” ซึ่งยังไม่พบศัพท์“วิทตฺถิมตฺต” และ “รตนมตฺต” ที่มารวมกันเป็นชุดเหมือนคำแปลในภาษาไทย

เป็นปัญหาท้าทายที่ควรศึกษาสืบค้นกันต่อไป

นักเรียนบาลี นอกจากเรียนเพื่อให้สอบได้ตามค่านิยมแล้ว ควรมีใจอุตสาหะ รักเรียนรักรู้ รักการค้นคว้าคัมภีร์ต่อไปอีก งานบาลีที่รอการศึกษาค้นคว้ายังมีอีกเป็นอเนกอนันต์

การศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ต่อไปจนถึงพระไตรปิฎก เป็นวิธีรักษาสืบต่อพระศาสนาที่บรรพบุรุษของเรามีฉันทะอุตสาหะทำกันมาโดยตลอด ไม่ควรปล่อยให้ยอดมาด้วนเสียในยุคสมัยของพวกเรา

เมื่อพิจารณาเห็นชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืนเช่นนั้นแล้ว ก็ควรรีบใช้ร่างกาย “ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” อันเป็น “โลก” ของแต่ละคนทำประโยชน์แก่โลกคือสังคมให้ได้มากที่สุดโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การลงมือทำ คือการช่วยกันต่อยอด

: การเพิกเฉย คือการช่วยกันตัดยอด

#บาลีวันละคำ (3,547)

27-2-65 

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *