บาลีวันละคำ

ลักษมี (บาลีวันละคำ 2,310)

ลักษมี

อ่านว่า ลัก-สะ-หฺมี

ลักษมี” บาลีเป็น “ลกฺขี” (ลัก-ขี) รากศัพท์มาจาก ลกฺข + อี ปัจจัย

(ก) “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด, เห็น) + ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย” “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง

ลกฺข” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย (a mark)

(2) เป้า (a target)

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)

ลกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ลักขะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).”

(ข) ลกฺข + อี = ลกฺขี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันเขามองเห็นเพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ” (คือมีความดีเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรสรรเสริญ คนทั้งหลายจึงมองเห็น) (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดสัตว์โลก” (คือกำหนดว่าดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานเนื่องจากรู้จักสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่ตัวเองและหมู่คณะได้ หรือกล่าวรวบยอดว่าเป็นผู้สามารถพัฒนาตนเองได้)

ลกฺขี” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) โชค, เคราะห์ดี, ความสำเร็จ, สวัสดิภาพส่วนตัว (luck, good fortune, success, personal welfare)

(2) ความสง่างาม, อำนาจ (splendour, power)

(3) ความรุ่งเรือง (prosperity)

บาลี “ลกฺขี” สันสกฤตเป็น “ลกฺษมี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ลกฺษฺมี : (คำนาม) พระชายาของพระวิษณุ, และภควดีแห่งทรัพย์และสมบัติ; ภาคย์, ชัยหรือศรี, บุณโยทัย; นางสีดา, พระชายาของพระราม; โศภา, ภาสุรัคว์หรือศรี; ชายา; วธูของวีรบุรุษ; ขมิ้น; มุกดาผล, ไข่มุกด์; the wife of vishṇu, and goddess of wealth and prosperity; fortune, success, prosperity; Sitā, the wife of Rāma; beauty, splendor; a wife; the wife of a hero; turmeric; pearl.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ลักขี” ที่มาจาก “ลกฺขี” ในบาลี และ “ลักษมี” ที่มาจาก “ลกฺษมี” ในสันสกฤต โดยบอกไว้ดังนี้ –

(1) ลักขี : (คำนาม) โชค, ลาภ. (ป.; ส. ลกฺษมี).

(2) ลักษมี : (คำนาม) โชคลาภ, ความเจริญ, ทรัพย์; ความงาม, เสน่ห์, สิริ; ชื่อเจ้าแม่แห่งลาภและความงาม เป็นชายาพระนารายณ์. (ส.).

โปรดสังเกตความหมายในภาษาไทยตามที่พจนานุกรมฯ แสดงไว้

ลักขี” บอกไว้สั้นๆว่า “โชค, ลาภ”

แต่ “ลักษมี” นอกจากบอกว่า “โชคลาภ” แล้ว ยังมีความหมายอื่นๆ มากกว่า “ลักขี” อีกหลายอย่าง

อนึ่ง จุดเล็กๆ ที่ไม่ควรมองผ่าน เพราะใช้เป็นที่ฝึกฝนความสังเกตได้ดีก็คือ

ลักขี” พจนานุกรมฯ บอกว่า “โชค, ลาภ”

แต่ “ลักษมี” บอกว่า “โชคลาภ”

“โชค, ลาภ” กับ “โชคลาภ” เขียนต่างกันด้วยเหตุผลอันใด พจนานุกรมฯ ควรมีคำตอบ

ข้อสังเกตสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสังเกต:

นักภาษาบอกว่า ภาษาบาลีสันสกฤตกับภาษาอังกฤษเป็นภาษาตระกูล Indo-European

ลกฺขี” แปลเป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า luck

luck เติมปัจจัยเป็น lucky คือที่เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า ลักกี้

luck <> ลักขะ <> lucky <> ลกฺขี <> ลักษมี นี่คือลักษณะของ Indo-European

ดูเพิ่มเติม: “ลักขี” บาลีวันละคำ (927) 1-12-57

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โชคดีที่งามระยับที่สุด

: คือการหยุดทำความระยำ

#บาลีวันละคำ (2,310)

9-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *