บาลีวันละคำ

ปริชิณ – ปริชิน (บาลีวันละคำ 3,244)

ปริชิณปริชิน

ชอบคำไหน-รูปงามนามเพราะทั้งคู่

อ่านว่า ปะ-ริ-ชิน ทั้งสองคำ

ประกอบด้วยคำว่า ปริ + ชิณ, ปริ + ชิน

(๑) “ปริ” (ปะ-ริ)

เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)

(๒) “ชิณ

บาลีเป็น “ชิณฺณ” อ่านว่า ชิน-นะ รากศัพท์มาจาก ชรฺ (ธาตุ = เสื่อมวัย, แก่) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ชรฺ > ), แปลง เป็น อินฺน แล้วแปลง นฺน เป็น ณฺณ ( > อินฺน > อิณฺณ)

: ชรฺ + = ชรต > ชต > ชินฺน > ชิณฺณ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ (ชรฺ > ชิร), แปลง รฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ณฺณ

: ชรฺ + = ชรต > ชิรต > ชิณฺณ

ชิณฺณ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสื่อมวัย” ในบาลีเป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) เสื่อมโทรม, ชรา, แก่เฒ่า, หมดกำลัง, อ่อนแอ (decayed, broken up, frail, decrepit, old)

(2) ย่อยอาหาร (digested)

บาลี “ชิณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ชิณณะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชิณณะ : (คำวิเศษณ์) แก่, เก่า, ครํ่าคร่า. (ป.).”

ชิณฺณ” ในที่นี้ เพื่อให้เป็นคำพยางค์เดียว ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย ใช้เป็น “ชิณ” อ่านว่า ชิน

(๓) “ชิน

บาลีอ่านว่า ชิ-นะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ชิ + ยุ > อน = ชิน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ชนะ” (2) “ผู้ชนะบาปอกุศลธรรม” หมายถึง พิชิต, มีชัย (conquering, victorious)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often of the Buddha, “Victor” (มักใช้เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระผู้มีชัย”)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชิน– ๔ : (คำนาม) ผู้ชนะ, พระพุทธเจ้า, ใช้ประกอบกับคําอื่นเป็น ชินวร ชิเนนทร์ หมายความว่า พระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”

ในที่นี้ใช้ประกอบกับคำอุปสรรค และไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ชิน

การประสมคำ :

(๑) ปริ + ชิณฺณ = ปริชิณฺณ (ปะ-ริ-ชิน-นะ) > ปริชิณ (ปะ-ริ-ชิน)แปลว่า “แก่รอบแล้ว” คือแก่หมดทุกส่วน ตรงกับคำว่า แก่หง่อม

(๒) ปริ + ชิน = ปริชิน (อ่านแบบไทยว่า ปะ-ริ-ชิน) แปลว่า “ผู้ชนะรอบด้าน” คือชนะหมดทุกเรื่องทุกด้านทุกส่วน ไม่มีอะไรเลยที่ยังไม่ชนะ

อภิปราย :

ปริชิน” เป็นคำที่คิดปรุงขึ้นเพื่อให้เป็นชื่อคน และให้อ่านว่า ปะ-ริ-ชิน แต่เมื่ออ่านออกเสียงอย่างนี้แล้วก็ชวนให้นึกถึงคำบาลีอีกคำหนึ่ง คือ “ปริชิณฺณ” ใช้เป็นคำขยายบุคคล แปลว่า คนแก่หง่อม ใช้เป็นคำขยายวัตถุสิ่งของ แปลว่า ของที่เก่าแก่ คร่ำคร่า ทรุดโทรม

ปริชิณฺณ” ตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยมในภาษาไทย ก็เป็น “ปริชิณ” อ่านออกเสียงเหมือน “ปริชิน” เขียนก็คล้ายกัน ต่างกันที่ –ชิณ เณร กับ –ชิน น หนู

แต่ –ชิณ เณร กับ –ชิน น หนู ความหมายต่างกันมาก

จึงทำให้เกิดฉุกคิดว่า หลักคิดของคนสมัยใหม่บอกว่า ภาษาเป็นของสมมุติ เขียนอย่างไรก็ได้ สะกดอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก ขอให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไรก็เป็นอันใช้ได้

ถ้าเอาคำว่า “ปริชิน” อ่านว่า ปะ-ริ-ชิน ไปตั้งเป็นชื่อคน แล้วมีคนเอาไปเขียนเป็น “ปริชิณ” ซึ่งอ่านว่า ปะ-ริ-ชิน เหมือนกัน แล้วคนเขียนยืนยันว่าเขาถือหลักที่ว่า ภาษาเป็นของสมมุติ เขียนอย่างไรก็ได้ สะกดอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก แล้วยังยืนยันอีกด้วยว่า เขาสะกด “ปริชิณ” แบบนี้แหละ แต่เขาหมายถึง “ผู้ชนะรอบด้าน

เราจะอธิบายให้เขาฟังอย่างไร?

จะเห็นได้ว่า เพียงเหตุผลที่ว่า “สะกดอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดไม่มีถูก” เท่านี้ยังไม่พอ ต้องสะกดให้ถูกกับความหมายที่ต้องการอีกด้วย ต้องการอย่างหนึ่ง แต่สะกดไปอีกอย่างหนึ่ง ก็ผิดไปจากความหมายที่ต้องการ

และในที่สุดก็จะเห็นได้ว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุตินั้นถูกแล้ว แต่ต้องยึดหลักต่อไปอีกด้วยว่า ต้องการอย่างไรก็ต้องสมมุติให้เข้าใจตรงกัน จะสมมุติเอาตามใจชอบของใครของมันหาได้ไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำว่า “นรก-สวรรค์” เป็นสิ่งสมมุติ

: แต่ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เป็นเรื่องจริง

#บาลีวันละคำ (3,244)

30-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *