บาลีวันละคำ

สงฆ์ (จตุร) วรรค (บาลีวันละคำ 2,330)

สงฆ์ (จตุร) วรรค

องค์ประชุมของสังฆกรรม

อ่านว่า สง-(จะ-ตุ-ระ)-วัก

คำที่เป็นหลักคือ “สงฆ์” และ “วรรค

(๑) “สงฆ์

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

(๒) “วรรค

บาลีเป็น “วคฺค” (วัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วชฺชฺ (ธาตุ = เว้น, ยกเว้น) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺช ที่ (ว)-ชฺช เป็น คฺค

: วชฺช + = วชฺชณ > วชฺช > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่เว้นสิ่งที่มีกำเนิดไม่เหมือนกัน” (คืออะไรที่ไม่เหมือนกันก็ไม่นับเข้าพวกด้วย)

(2) วชฺ (ธาตุ = ถึง) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (ว)-ชฺ เป็น คฺ

: วชฺ + = วชฺค > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ถึงการรวมกัน

วคฺค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หมู่, ส่วนหรือตอน, กลุ่ม, พวก (a company, section, group, party)

(2) วรรค, ตอน หรือบทของหนังสือ (a section or chapter of a canonical book)

ในภาษาไทย เอาคำว่า “วคฺค” มาใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “วรรค” และแผลงเป็น “พรรค

คำว่า “วรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วรรค : (คำนาม) ตอน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กันเป็น วรรคตอน เช่น เครื่องหมายวรรคตอน เขียนหนังสือควรให้มีวรรคตอน, หมวด เช่น วรรค ก; ช่วงหนึ่งของคําหรือข้อความที่สุดลงแล้วเว้นเป็นช่องว่างไว้ระยะหนึ่ง เรียกว่า เว้นวรรค, ถ้าเป็นเรื่องร้อยกรองถือข้อความช่วงหนึ่ง เป็น วรรคหนึ่ง เช่น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร; ชื่อมาตราปักษคณนา ๔ หรือ ๕ ปักษ์ เรียก วรรคหนึ่ง คือ ปักษ์ถ้วน ๓ ปักษ์ขาด ๑ เรียก จุลวรรค, ปักษ์ถ้วน ๔ ปักษ์ขาด ๑ เรียก มหาวรรค; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ย่อหน้าหนึ่ง ๆ ของบทบัญญัติในแต่ละมาตราของกฎหมาย. (ส. วรฺค; ป. วคฺค).”

ในที่นี้ คำว่า “วรรค” หมายถึง “กำหนดจำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์หมวดหนึ่งๆ” ซึ่งเป็นความหมายทางพระวินัย แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้กล่าวถึง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “วรรค” ในทางพระวินัยไว้ดังนี้ –

วรรค : หมวด, หมู่, ตอน, พวก; กำหนดจำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์หมวดหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อครบจำนวนแล้วจึงจะทำสังฆกรรมอย่างนั้นๆ ได้ มี ๔ พวก คือ ๑. สงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ คือ ต้องมีภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นปวารณา ให้ผ้ากฐิน อุปสมบท และอัพภาน) ๒. สงฆ์ปัญจวรรค (สงฆ์พวก ๕ คือ ต้องมีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไปทำปวารณา ให้ผ้ากฐิน และอุปสมบทในปัจจันตชนบท) ๓. สงฆ์ทศวรรค (สงฆ์พวก ๑๐ คือ ต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป ให้อุปสมบทในมัธยมชนบทได้) ๔. สงฆ์วีสติวรรค (สงฆ์พวก ๒๐ คือ ต้องมีภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป ทำอัพภานได้).”

ไขคำ-ไขความ :

ที่ยกคำขึ้นตั้งว่า “สงฆ์ (จตุร) วรรค” มีคำว่า “จตุร” แทรกกลางอยู่วงเล็บ ก็โดยมีคำอธิบายว่า คำนี้ถ้าพูดเป็นคำถามก็คือถามว่า สังฆกรรมแต่ละชนิดใช้ “สงฆ์กี่วรรค” ทำ?

จะตอบว่า “สงฆ์จตุรวรรค” “สงฆ์ปัญจวรรค” “สงฆ์ทศวรรค” หรือ “สงฆ์วีสติวรรค” ก็แล้วแต่ชนิดของสังฆกรรมนั้นๆ ที่สงฆ์จะทำ (โปรดทบทวนตัวอย่างในคำอธิบายเรื่อง “วรรค” ข้างต้นประกอบ)

อาจจำความหมายของคำว่า “วรรค” ทางพระวินัยเสียใหม่อย่างง่ายๆ ว่า “องค์ประชุม” ก็ได้

นั่นคือ ในการที่สงฆ์ประชุมเพื่อทำงาน ( = สังกรรม) แต่ละอย่าง ต้องมีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกี่รูปจึงจะถือว่า ครบ “องค์ประชุม

นั่นแหละคือความหมายของคำว่า “สงฆ์กี่วรรค

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชาวพุทธที่มีแต่ศรัทธา แต่ไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย

: ก็เหมือนกองทัพที่เกรียงไกร แต่ไร้อาวุธยุทโธปกรณ์

———–

ปรับทุกข์ :

ขณะที่เขียนบาลีวันละคำคำนี้ ผู้เขียนรำพึงกับตัวเองว่า งานให้ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์

แต่ปรากฏว่า ทางหน้าเฟซบุ๊กนี้แทบจะไม่ปรากฏ-หรือพูดกันตรงๆ ว่าไม่ปรากฏเลย-ว่ามีพระสงฆ์รูปไหนเขียนความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยออกเผยแพร่อย่างเป็นกิจประจำวัน (ถ้ามีอยู่บ้าง ขอกราบแทบเท้าอนุโมทนามา ณ ที่นี้)

ผู้เขียนบาลีวันละคำมี “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กที่เป็นพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ที่เป็นเปรียญสูงๆ ก็มีไม่น้อย สังเกตดูเห็นว่าพระคุณท่านเหล่านั้นต่างก็เพลิดเพลินไปกับการโพสต์เรื่องอื่นๆ หลากหลายลีลา

ยกเว้นเรื่องความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย

นับว่าชอบกลมากๆ

ดูราวกับว่า ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยเป็นสิทธิและหน้าที่ส่วนบุคคล ใครสนใจก็ไปหาช่องทางศึกษาหาความรู้เอาเองเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะต้องเอามาบอกกล่าวเผยแพร่ให้ใคร

ถ้าคิดกันอย่างนี้ พระศาสนาของเราก็ไม่ต่างกับรถที่ใส่เกียร์ว่าง จะแล่นไปทางไหน หรือจะไม่แล่นไปทางไหน ก็ตามสบาย ตัวใครตัวกู

โครงสร้างการพระศาสนาในบ้านเรามีพร้อมทุกอย่าง ทั้งวัตถุอุปกรณ์ สถานที่ ทั้งคน ทั้งเงิน ทั้งตำแหน่งและอำนาจ

ขาดอยู่อย่างเดียว ขาดความคิดและความอุตสาหะที่จะทำงานเพื่อพระธรรมวินัยอันเป็นตัวแท้แห่งพระศาสนา

ปกติหน้าบาลีวันละคำเป็นเวทีแห่งวิชาการ แต่วันนี้ขออนุญาตใช้เป็นเวทีปรับทุกข์เล็กน้อย

#บาลีวันละคำ (2,330)

29-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *