บาลีวันละคำ

สังฆกรรม (บาลีวันละคำ 2,331)

สังฆกรรม

แม่แบบแห่งประชาธิปไตย

อ่านว่า สัง-คะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + กรรม

(๑) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

สงฺฆ + กมฺม = สงฺฆกมฺม (สัง-คะ-กำ-มะ) แปลว่า “งานของสงฆ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆกมฺม” ว่า an act or ceremony performed by a chapter of bhikkhus assembled in solemn conclave (สังฆกรรม, พิธีกรรมที่หมู่สงฆ์ทำในที่ประชุมสงฆ์)

สงฺฆกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังฆกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังฆกรรม : (คำนาม) กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทําภายในสีมา เช่น การทำอุโบสถ การสวดพระปาติโมกข์. (ส. สํฆ + กรฺมนฺ; ป. สงฺฆกมฺม).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “สังฆกรรม” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –

Saṅghakamma : an act or ceremony performed by a chapter of Buddhist monks assembled in solemn conclave; a formal act.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สังฆกรรม” ไว้ดังนี้ –

…………..

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ

๑. อปโลกนกรรม (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ) กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ

๒. ญัตติกรรม (ยัด-ติ-กำ) กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา

๓. ญัตติทุติยกรรม (ยัด-ติ-ทุ-ติ-ยะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน

๔. ญัตติจตุตถกรรม (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

…………..

ดูเพิ่มเติม: “สงฆ์ (จตุร) วรรค” บาลีวันละคำ (2,330) 29-10-61

อภิปราย :

ในสังคมสงฆ์-หรือที่ปัจจุบันนี้มีคำที่นิยมใช้กันว่า “สังฆะ”-มีหลักอยู่ว่า เมื่ออยู่ร่วมกันและจะต้องทำกิจอย่างใดๆ อันเกี่ยวด้วยหมู่คณะ (1) จะต้องพร้อมใจกันทำ (2) และตกลงใจทำกิจนั้นตามความเห็นชอบร่วมกัน (3) ไม่ทำกิจอันเกี่ยวกับส่วนรวมไปตามความเห็นหรือความชอบใจส่วนตัว (4) กิจใดกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้อย่างไร ต้องปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด อย่างนี้เป็นต้น

มีข้อควรสังเกตว่า “สังฆกรรม” ทุกประเภท หากเป็นกรณีที่ต้องขอมติจากที่ประชุม มตินั้นจะต้องเป็น “เอกฉันท์” หากมีเสียงคัดค้านหรือทักท้วงแม้เพียงเสียงเดียว จะต้องยกเลิกหรือพิจารณาทบทวนกันใหม่ทันที (คำที่รู้จักกันว่า “เยภุยยสิกา” = ถือเสียงข้างมาก ใช้สำหรับกรณีระงับวิวาทาธิกรณ์เท่านั้น ไม่ใช้ในกรณีทำสังฆกรรม)

สังฆกรรม” ของสังฆะจึงนับได้ว่าเป็นแม่แบบของระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งยังมีธรรมาธิปไตยเป็นพื้นฐานรองรับอีกด้วย

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ทำไมกฎกติกาในสังคมไทยจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์?

: ศักดิ์ก็วิปริต สิทธิ์ก็วิปลาส

: ก็เพราะเราไม่เคยฝึกตนให้พ้นจากอำนาจ-

-ของการทำตามใจตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,331)

30-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย